ความสำคัญของการควบคุมต่อองค์การ

1. การควบคุมมีความสำคัญต่อหน้าที่ทางการบริหารอื่นๆในองค์การ
1) การควบคุมมีความสำคัญต่อการวางแผน กล่าวคือ การควบคุมทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายและวิธีการที่กำหนดไว้ในแผน ถ้ามีปัญหาอุปสรรคก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที และทำให้การทบทวนหรือปรับปรุงแผนใหม่ในอนาคตง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าแผนดังกล่าวบรรลุเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร เช่น การควบคุมการดำเนินงานตามแผนประชาสัมพันธ์ทำให้การประชาสัมพันธ์ขององค์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  เป็นต้น  นอกจากนี้ ในระหว่างดำเนินการตามแผน ถ้ามีการควบคุมจะทำให้ทราบความก้าวหน้าของแผนว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไรอีกด้วย      
2) การควบคุมมีความสำคัญต่อการประสานงาน กล่าวคือ เพื่อให้การประสานงานของหน่วยงานภายในองค์การประสบความสำเร็จ ฝ่ายบริหารองค์การควรให้ความสำคัญกับการควบคุมเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนเองได้บรรลุเป้าหมายตามแผน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ ในองค์การด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้บริหารองค์การไม่ควบคุมการปฏิบัติงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบอยู่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นในองค์การ หรือสร้างปัญหาหรือความขัดแย้งกับหน่วยงานอื่น

2. การควบคุมมีความสำคัญต่อการปรับตัวขององค์การ  การควบคุมช่วยให้องค์การสามารถ ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกขององค์การมีความเป็นพลวัตรและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้บริหารไม่ควบคุมอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ไม่สามารถปรับตัวหรือตอบสนองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ เช่น ถ้าผู้บริหารองค์การให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆในองค์การและการควบคุมด้านการเงินส่งผลให้องค์การมีสภาพคล่อง และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  องค์การก็สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้บริหารองค์การไม่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการเงินอาจก่อหนี้จำนวนมากในองค์การและไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

3.  การควบคุมทำให้องค์การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ การควบคุมทำให้ทราบปัญหาอุปสรรคจากการทำงานของแต่ละฝ่าย จึงสามารถปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์การหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ เช่น เมื่อผู้บริหารองค์การควบคุมเวลาการปฏิบัติงานต่างๆในองค์การ อาจพบว่ากิจกรรมบางอย่างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ซึ่งส่งผลต่อเป้าหมายโดยรวมของงานชิ้นนั้น จึงค้นหาสาเหตุของความล่าช้าในกิจกรรมดังกล่าวแล้วปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานในภาพรวมประสบความสำเร็จ เป็นต้น

4. การควบคุมทำให้องค์การมีประสิทธิภาพ การควบคุมช่วยลดความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานให้น้อยที่สุด ลดต้นทุนทั้งในเชิงเวลาและค่าใช้จ่าย เช่น การควบคุมการดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติการประจำปี ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงานโครงการไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปีและโครงการเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน นอกจากนี้ การควบคุมทำให้ทราบว่ามีการใช้ทรัพยากรขององค์การอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใดอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป การควบคุมมีความสำคัญต่อหน้าที่ทางการบริหารอื่นๆในองค์การ การปรับตัวขององค์การ  การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้และการดำเนินงานขององค์การมีประสิทธิภาพ