จากโพสต์ความรู้เรื่องการประมาณกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (1) – (4) ซึ่งอธิบายหลักการของการประมาณกระแสเงินสดในส่วนต่างๆ แล้ว สำหรับในโพสต์นี้จะยกตัวอย่างการคำนวณเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้
บริษัทสามศร จำกัด กำลังพิจารณาตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่า โดยมีรายละเอียดโครงการดังนี้
1. เครื่องจักรเก่า มีราคาตามบัญชี 100,000 บาท อายุการใช้งานคงเหลืออีก 5 ปี หากบริษัทตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่ จะสามารถนำไปขายได้ในราคา 120,000 บาท
2. ราคาของเครื่องจักรใหม่คือ 300,000 บาท ค่าติดตั้งและทดลองเดินเครื่องจักร 50,000 บาท อายุการใช้งาน 5 ปี
3. หากบริษัทตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นจะทำให้บริษัทสามารถผลิตและขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นปีละ 150,000 บาท รวมทั้งสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนอกจากค่าเสื่อมราคาปีละ 95,000 บาท
4. บริษัทต้องดำรงวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 25,000 บาทหากบริษัทตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่
5. เมื่อเครื่องจักรใหม่หมดอายุการใช้งานคาดว่าจะขายได้ในราคา 5,000 บาท
6. บริษัทเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 20%
7. การลงทุนในเครื่องจักรใหม่บริษัทต้องการผลตอบแทนขั้นต่ำ 12%
จากข้อมูลข้างต้นสามารถคำนวณกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนได้ดังนี้
1. กระแสเงินสดจ่ายลงทุนเริ่มแรก
กระแสเงินสดรับจากการขายเครื่องจักรเก่า
ราคาขาย 120,000
หัก ราคาตามบัญชี 100,000
กำไรจากการขาย 20,000
ภาษีที่ต้องชำระ (20,000 x 20%) 4,000
กระแสเงินสดรับจากการขายเครื่องจักรเก่า (120,000 – 4,000) 116,000
ราคาซื้อเครื่องจักรใหม่ 300,000
บวก ค่าติดตั้งและทดลองเดินเครื่องจักร 50,000
ราคาทุนของเครื่องจักรใหม่ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าเสื่อมราคา 350,000
บวก เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น (ดำรงวัตถุดิบเพิ่มขึ้น) 25,000
หัก กระแสเงินสดรับจากการขายเครื่องจักรเก่า 116,000
กระแสเงินสดจ่ายลงทุนเริ่มแรก 259,000
2. กระแสเงินสดสุทธิระหว่างดำเนินโครงการ
ปีที่ 1 – 5 ปีละ
รายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น 150,000
ค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 10,000
รวม 160,000
หัก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (นอกจากค่าเสื่อมราคา) 95,000
กำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา 65,000
หัก ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น 50,000
กำไรก่อนหักภาษี 15,000
หัก ภาษีเงินได้ 20% 3,000
กำไรสุทธิ 12,000
บวก ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น 50,000
กระแสเงินสดสุทธิระหว่างดำเนินโครงการ 62,000
สำหรับค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นคำนวณได้โดย
ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรใหม่ = 350,000 = 70,000
5
ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรเก่า = 100,000 = 20,000
5
ค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น 50,000
3. กระแสเงินสดรับเมื่อสิ้นสุดโครงการ
ขายซากเครื่องจักรใหม่ [(5,000 x (1 – 0.20)] 4,000
เงินทุนหมุนเวียนที่ได้คืน 25,000
รวม 29,000