ในสถานการณ์ที่ภาะเงินฟ้อมีผลต่อการออมและการลงทุน ผู้ออมและผู้ลงทุนจึงต้องมีการประมาณค่าเงินเฟ้อและผลกระทบของเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นกับเงินออมหรือลงทุนในอนาคต
การคาดการณ์เงินเฟ้ออาจทำได้โดยพิจารณาจากตราสารทางการเงินที่แปรผันตามเงินเฟ้อจะเป็นการคำนวณหาค่า Breakeven inflation หลักการของการคำนวณ Breakeven inflation มาจากหลักการที่ว่า นักลงทุนย่อมจะได้รับผลตอบแทนสุทธิเท่าๆ กันไม่ว่าจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนที่ 2.50% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0.5% สะท้อนว่า Breakeven inflation 10 ปี เท่ากับ 2% ซึ่งจะทำให้ นักลงทุนได้รับผลตอบแทนสุทธิเท่ากันไม่ว่าจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อดังกล่าวมิฉะนั้นแล้วจะเกิดการ arbitrage ระหว่างพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทนี้จนทำให้มีผลตอบแทนสุทธิเท่ากัน
Breakeven inflation ของสหรัฐฯ สะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือน มี.ค. 2020 ที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนักทั่วโลกทำให้กระทบกับเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ในช่วงนั้น Breakeven inflation 10 ปี ของสหรัฐได้ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 1.5% ในเดือน ก.พ. 2020 มาอยู่ที่ 0.5% ในเดือน มี.ค. ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ตัวเลข Headline CPI ที่เป็นดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐก็ปรับตัวลงจากระดับ 2% มาอยู่ที่ 1.5% ในเดือน มี.ค. และปรับลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 0.1% ในเดือน พ.ค. ในขณะที่ CPI ทำจุดต่ำสุดนั้น Breakeven inflation มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2020 เป็นต้นมา CPI ของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ 9.1% ในเดือน มิ.ย. 2022
เอกสารอ้างอิง
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2565). Breakeven Inflation คืออะไร? และ บอกอะไร?. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566, สืบค้นจาก: https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2022/101022.aspx