พืชเพื่อการให้ผลิตผล (Bearer Plants) คืออะไร วัดมูลค่าอย่างไร

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

พืชเพื่อการให้ผลิตผล คืออะไร  หัวข้อบทความนี้ ฟังดูเหมือนจะอยู่ในวิชาเกษตรกรรม เพราะมีคำว่า พืช และผลิตผล แต่จุดประสงค์ที่จะกล่าวนี้คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาการบัญชี ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  (TAS 16: Property, Plant and Equipment ) ซึ่งก็อาจฟังดูแปลก ว่าทำไมพืชเพื่อการให้ผลผลิต จึงต้องปฏิบัติทางการบัญชีเช่นเดียวกับสินทรัพย์ที่จัดอยู่ในหมวดที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักร อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น และมีการปฏิบัติทางบัญชีที่แตกต่างจากผลิตผลที่เจริญเติบโตจากพืชเพื่อการให้ผลิตผล (the produce on bearer plants) เช่น ผลองุ่นที่ได้จากต้นองุ่น หรือ ใบชาที่ได้จากพุ่มชา เป็นต้น ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับพืชเพื่อการให้ผลผลิตกันว่าคืออะไร  

พืชเพื่อการให้ผลิตผล  หมายถึง พืชที่มีชีวิต (living plant) จัดเป็นสินทรัพย์ชีวภาพ (Biological assets) ซึ่ง

  1. เป็นพืชที่ปลูกเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตผลทางการเกษตร (Agriculture produce)
  2. คาดว่าจะให้ผลิตผลมากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และ
  3. มีความเป็นไปได้ยากยิ่ง (a remote likelihood) ที่จะขายพืชนี้ในลักษณะที่เป็นผลิตผลทางการเกษตร เว้นแต่ เป็นการขายในลักษณะเศษซาก การวัดมูลค่าพืชเพื่อการให้ผลิตผลทั้งที่ยังไม่พร้อมให้ผลิตผลหรือพร้อมให้ผลิตผล ในทางการบัญชีต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ โดยวัดมูลค่าด้วยราคาทุน หักค่าเสื่อมราคาสะสม และค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม หรือ วัดด้วยวิธีการตีราคาใหม่

ตัวอย่างที่ 1  ต้นยางพาราที่ปลูกเพื่อกรีดน้ำยาง จัดเป็นพืชเพื่อการให้ผลผลิต เนื่องจากให้ผลิตผลทางการเกษตรหรือผลิตผลที่เก็บเกี่ยวได้จากต้นยางในรูปของน้ำยางสด ซึ่งจะห้ผลิตผลมากกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี  ในบางต้นอาจให้น้ำยางสดได้ ถึง 25 ปี ต้นยางพาราที่ปลูกเพื่อกรีดน้ำยางนี้มีความเป็นไปได้ยากยิ่งที่จะถูกขายเป็นผลิตผลทางการเกษตร แต่เมื่อถึงอายุที่ไม่สามารถให้น้ำยางสดได้อีกต่อไป เกษตรกรก็จะโค่นต้นยางลงและขายเป็นเศษซากให้โรงงานที่รับซื้อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหรือไม้ฟืน ก็คือสามารถขายป็นเศษซากได้  

ตัวอย่างที่ 2 ต้นองุ่นหรือที่เรียกว่าเถาองุ่น เป็นสินทรัพย์ชีวภาพที่จัดเป็นพืชเพื่อการให้ผลิตผล ซึ่งต้องวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุน หรือวิธีการตีราคาใหม่ ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ส่วนผลองุ่นซึ่งเป็นผลิตผลที่ได้จากต้นองุ่น ถ้าเป็นผลองุ่นที่ติดอยู่บนเถาองุ่น  จัดเป็นสินทรัพย์ชีวภาพ ซึ่งต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย แต่ถ้าเป็นผลองุ่น ณ จุดเก็บเกี่ยว ซึ่งก็คือ ได้แยกผลองุ่นออกมาจากต้นองุ่นแล้ว ผลองุ่นที่ได้นี้ต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ณ จุดเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นทุนตั้งต้นของผลองุ่น และเมื่อขายผลองุ่นออกไปให้โรงงานแปรรูปเป็นเหล้าองุ่น ซึ่งจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยว ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง

จากตัวอย่างข้างต้นจึงสรุปได้ว่า

–          สินทรัพย์ชีวภาพที่จัดเป็นพืชเพื่อการให้ผลผลิต ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์

–          สินทรัพย์ชีวภาพที่ไม่ใช่พืชเพื่อการให้ผลผลิต และผลิตผลทางการเกษตร ณ จุดเก็บเกี่ยว ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง

ที่มา 

ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 36/2562 เรื่อง มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (24 กันยายน 2562). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 238 ง หน้า 4 (เล่มที่ 1)

ประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 42/2562 เรื่อง มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 เกษตรกรรม (24 กันยายน 2562). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 238 ง หน้า 10 (เล่มที่ 1)

สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์  (13 มิถุนายน 2560) คู่มืออธิบายมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม https://acpro-std.tfac.or.th/uploads/files/TAS41-Manual.pdf