รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
ปรากฎการณ์ที่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ฝากเงินพร้อมใจกันถอนเงินออกจากธนาคาร/สถาบันการเงิน จนกระทั่งธนาคารไม่สามารถหาเงินมาให้กับทุกคนได้ในเวลาขณะนั้น เรียกว่า แบงก์รัน (Bank Run) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นจากคำว่า “เชื่อมั่น” โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่รับฝากเงินจากประชาชนจำนวนมาก โดยประชาชนเกิดความกลัวว่าสถาบันการเงินกำลังจะล้มละลาย จึงทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นด้วยการแห่กันไปถอนเงินกันอย่างบ้าคลั่ง ในที่สุดสถาบันการเงินไม่มีเงินสดเพียงพอให้ถอนในวันนั้น นำไปสู่ “ข่าวลือ” ว่าสถาบันการเงินไม่มีเงิน สำหรับบทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวของปรากฏการณ์แบงก์รัน
ปรากฎการณ์แบงก์รันที่ถูกกล่าวขานกันในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อราว ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) ในช่วงเวลานั้นตลาดหุ้นสหรัฐตกต่ำ และประชาชนมีความอ่อนไหวต่อข่าวลือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น และยิ่งเป็นการสร้างกระแสความแตกตื่นให้กับผู้ฝากเงินกับธนาคาร โดยใน ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ได้เกิดปรากฎกาณ์แบงก์รับเป็นครั้งแรกในเมืองแนชวิล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนได้แห่ไปถอนเงินจากธนาคารจนไม่สามารถให้ถอนเงินได้ เกิดการขาดแคลนเงินสดของธนาคารในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลุกลาม จนทำให้ธนาคารหลายๆ แห่งมีความจำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ต่างๆ ของธนาคารในราคาที่ต่ำเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาให้กับประชาชนที่ต้องการถอนเงินจากธนาคาร
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ใน ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ประเทศเลบานอนได้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อที่สูงมาก จนเกิดกระแสความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคาร ประชาชนได้พากันแห่ไปถอนเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจากธนาคารจนไม่มีเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาให้ถอน ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการล้มสลายของระบบธนาคาร ในเวลานั้นรัฐบาลเลบานอนได้ออกมาตรการห้ามการถอนเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และให้ถอนได้เฉพาะเงินปอนด์เลบานอน (Lebanese Pound) ซึ่งไม่สะท้อนถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นจริงกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
กรณีของประเทศไทยการเกิดแบงก์รันใน พ.ศ. 2557 เป็นผลมาจาก “เงินกู้อินเตอร์แบงก์” ซึ่งในเวลานั้นกระทรวงการคลังได้ตัดสินใจใช้ช่องการกู้เงินระหว่างธนาคาร โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับชาวนาเป็นผลมาจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลในยุคนั้น จนเกิดกระแสต่อต้านทางสังคมและเกิดสภาวะขาดความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนแห่ไปถอนเงินจากธนาคารออมสินเป็นจำนวน 1.05 แสนล้านบาทภายใน 4 วัน ทำให้บางสาขาขาดเงินสดจนต้องจ่ายเป็นเช็คแทน ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสร้างสถิติของธนาคารออมสินในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และบทสุดท้ายทำให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินในขณะนั้นได้ตัดสินใจลาออก เพื่อทำการกู้ศรัทธากลับคืนมาโดยเร็ว และคณะกรรมการบริหารธนาคารออมสินได้ยกเลิกวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์ที่ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมกับเรียกเงินที่ได้อนุมัติให้ก่อนหน้านี้กลับคืนมา และได้ทำการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารใหม่ของธนาคารออมสินด้วย
จากบทความนี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่นโยบายทางการเมืองได้เข้ามาแทรกแซงระบบธนาคาร จนทำให้เกิดปรากฏารณ์ที่เรียกว่า แบงก์รัน แต่นับว่าในเวลานั้นที่ผู้บริหารของธนาคารยังมีความรับผิดชอบอันสูงต่อการตัดสินใจที่รวดเร็วก่อนที่จะเกิดลุกลามไปยังธนาคารแห่งอื่น จนนำมาสู่ความล้มสลายของธนาคารได้ นับว่ายังโชคดีของประเทศไทยที่ผ่านเรื่องร้ายนี้มาได้จนถึงปัจจุบัน แต่ในอนาคตอาจเกิดเหตุกรณ์เช่นนี้อีกก็ได้