กระบวนการ Backdoor Listing เพื่อช่วยบริษัทเข้าตลาดหุ้นแบบง่ายๆ ได้อย่างไร

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต

หลายๆ ท่านอาจได้ยินคำว่า Backdoor Listing และเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่ากระบวนการนี้จะช่วยบริษัทได้อย่างไร  ในเบื้องต้นหลายท่านอาจจะรู้จัก Backdoor Listing คือเป็นกระบวนการที่บริษัทนอกตลาดหุ้นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นโดยทางอ้อม ซึ่งกระบวนการลักษณะนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการแบบปกติ  จึงทำให้เรื่องราวเป็นที่น่าสนใจที่จะนำมาศึกษาเพิ่มเติม  ในบทความนี้จะนำเสนอกระบวนการ Backdoor Listing เพื่อช่วยบริษัทเข้าตลาดหุ้นแบบง่ายๆ ว่าเป็นไปได้อย่างไร

ลำดับแรกมาทำความเข้าใจกับ Backdoor Listing คือ กระบวนการที่บริษัทเข้าตลาดหุ้นโดยทางอ้อม โดยการใช้บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นแล้ว ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการควบคุมของบริษัทจดทะเบียนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดที่มีขนาดเล็กกว่า ไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่า  หากจะอธิบายกระบวนการนี้เพื่อเข้าใจง่ายขึ้น  เป็นกระบวนการที่บริษัทนอกตลาดเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่สามารถควบคุมบริษัทจดทะเบียนในตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จนั่นเอง

กระบวนการ Backdoor Listing นับว่าเป็นกระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่กระทำได้ง่ายและมีความรวดเร็ว รวมถึงมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและถูกกว่ากระบวนการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบปกติ  อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายใช้กระบวนการ Backdoor Listing จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น การทำหนังสือแจ้งรายละเอียดต่อตลาดหลักทรัพย์ และขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการต่างๆ กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  นอกจากนี้ กระบวนการ Backdoor Listing จะต้องอาศัยผู้ที่มีวิชาชีพที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อให้ความเห็นในการทำรายการที่เกิดขึ้น

ขั้นตอนของกระบวนการ Backdoor Listing ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยกำกับดูแลมีดังนี้

      1. ผู้ดำเนินการจะทำหน้งสือแจ้งข้อมูลรายละเอียดต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

      2. การยื่นคำขอให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณารับหลักทรัพย์ใหม่ตามเกณฑ์การรับหลักทรัพย์

      3. การดำเนินการขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมและมีสิทธิออกเสียง  ทั้งนี้ จะต้องไม่นับรวมเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และมีที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) จะต้องให้ความเห็นต่อการทำรายการดังกล่าว

สุดท้ายการใช้กระบวนการ Backdoor Listing เป็นการเข้าสู่ตลาดหุ้นโดยทางอ้อมมีกระบวนที่น้อยกว่าวิธีการปกติ ซึ่งทำให้การตรวจสอบไม่ละเอียดเท่ากับวิธีตามปกติ  จึงทำให้บางบริษัทที่อาจมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปหาผลประโยชน์จากตัวบริษัทและความได้เปรียบในการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป  อย่างไรก็ตาม  ยังมีอีกหลายบริษัทที่ใช้ช่องนี้แล้วประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน  ดังนั้น นักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนกับบริษัทที่ใช้กระบวนการ Backdoor Listing จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และนำมาซึ่งความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในอนาคต