ทำไมความเสี่ยงจากการลงทุนสูงจึงต้องให้ผลตอบแทนสูง
ในยุคก่อนถ้าคนมีเงินเหลือเก็บออมมักจะนำไปฝากธนาคารเนื่องจากไม่มีทางเลือกมากนักในการเก็บออมเงินที่มีอยู่ คนจึงคุ้นเคยกับการเก็บออมเงินโดยฝากธนาคารซึ่งเป็นการลงทุนแบบพื้นฐานที่สุด ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนต่ำและมีความเสี่ยงต่ำด้วยเช่นกัน ในยุคก่อนถือว่าการฝากเงินกับธนาคารไม่มีความเสี่ยง เพราะอย่างไรเสียก็ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ แต่เมื่อเกิดวิกฤตสถาบันการเงินในปี พ.ศ.2540 จนมีสถาบันการเงินจำนวนมากต้องปิดกิจการลง ทำให้ภาครัฐมองหาแนวทางในการช่วยลดภาระในการช่วยเหลือคุ้มครองเงินฝากให้แก่ประชาชน จึงมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นซึ่งทำให้การฝากเงินกับธนาคารได้รับการคุ้มครองในวงเงินจำกัด ซึ่งปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้คุ้มครองเงินฝากที่ฝากธนาคารไว้บัญชีละ 1,000,000 บาท ทำให้ผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารหลักหลายล้านบาทเริ่มรู้สึกว่าการฝากเงินกับธนาคารไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม นั่นคือการฝากเงินกับธนาคารก็มีความเสี่ยงเกิดขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามถือว่าการฝากเงินกับธนาคารมีความเสี่ยงต่ำมาก ดังนั้นอัตราผลตอบแทนจากการฝากเงินก็ต่ำด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ฝากเงินกลัวความเสี่ยงจึงยอมฝากเงินกับธนาคารแล้วยอมรับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำโดยรู้สึกมั่นใจว่าเงินที่ฝากไว้ปลอดภัย แต่สำหรับคนที่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารก็จะมองหาช่องทางอื่นในการลงทุน เช่น กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้นสามัญ และอนุพันธ์ เป็นต้น สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็จะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนมากขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง และสินทรัพย์ที่ยิ่งมีความเสี่ยงมากเท่าไรก็ต้องให้ผลตอบแทนมากยิ่งขึ้นเพื่อจูงใจให้ผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและมีความกล้าเสี่ยงมาลงทุน เช่น หุ้นกู้มีความเสี่ยงมากกว่าเงินฝากธนาคาร หุ้นกู้ต้องให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคาร…