ระบบแองโกล-แซกซอน มีรากฐานและวิวัฒนาการมาจากประวัติศาสตร์การจัดการปกครองและการบริหารท้องถิ่นอันยาวนานของอังกฤษ ซึ่งถือว่าการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการรวมตัวกันเป็นชาติ และประเทศอังกฤษเกิดจากการรวมตัวกันของท้องถิ่นต่างๆ โดยท้องถิ่นยังคงสงวนอำนาจบางประการของท้องถิ่นไว้ ดังนั้น ท้องถิ่นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การปกครองท้องถิ่นในระบบแองโกล-แซกซอน เป็นแบบอย่างของการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและบริหารท้องถิ่นของตนอย่างกว้างขวาง แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจปกครองตนเองและมีความเป็นอิสระ มีรูปแบบและวิธีการในการดำเนินการปกครองและบริหารตามแบบอย่างของตนเอง ตามจารีตประเพณีของท้องถิ่นซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จะเห็นได้จากการเรียกชื่อท้องถิ่นในระดับเดียวกันแตกต่างกัน เช่น ท้องถิ่นระดับดิสทริคท์ (District) บางแห่งเรียกว่า ดิสทริคท์ บางแห่งเรียกว่า เบอเรอะ (Borough) บางแห่งเรียกว่า ซิตี้ (City) หรือท้องถิ่นระดับแพริช (Parish) บางแห่งเรียกว่า ทาวน์ (Town) บางแห่งเรียกว่าคอมมิวนิตี (Community) นอกจากนั้น ยังมีบางแห่งเรียกว่าซิตีเหมือนระดับดิสทริคท์ด้วย ตำแหน่งของผู้นำท้องถิ่นซึ่งอาจเทียบได้กับนายกเทศมนตรี ก็เรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ลอร์ดแมร์ (Lord Mayor) แมร์ (Mayor) แชร์แมน (Chairman) ลอร์ดโพรโวสท์ (Lord Provost) โพรโวสท์ (Provost) คอนวีเนอร์ (Convener) ฉะนั้น การปกครองท้องถิ่น ตามระบบนี้จึงมักจะค่อนข้างยุ่งเหยิง มีความหลากหลายและแตกต่าง ไม่มีแบบที่แน่นอนตายตัว แต่จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การมีอำนาจปกครองตนเองและความเป็นอิสระของท้องถิ่น จนได้ชื่อว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นแบบ local self government หรือการปกครองตนเองของท้องถิ่น
การปกครองและบริหารท้องถิ่นตามระบบแองโกล-แซกซอน นอกจากจะใช้ในสหราชอาณาจักรแล้ว ยังได้แพร่หลายไปในประเทศที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเครือจักรภพ และประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น
บรรณานุกรรม
รสคนธ์ รัตนเสริมพงศ์. (2563). ระบบหลักของการบริหารท้องถิ่น ในเอกสารการสอนชุดวิชา
การบริหารท้องถิ่น. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.