การเปิดเผยนโยบายการบัญชี :พืชเพื่อการให้ผลิตผล vs  ผลิตผลที่ได้จากพืชเพื่อการให้ผลิตผล กรณีปาล์มน้ำมัน

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

สำหรับรายการพืชเพื่อการให้ผลิตผล กิจการต้องเปิดเผยนโยบายการบัญชีไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งมีสาระที่คัญดังต่อไปนี้

  1. การวัดมูลค่า ระบุว่า “พืชเพื่อการให้ผลิตผลแสดงมูลค่าตามราคาทุนหักค่าตัดจำหน่ายสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ (ถ้ามี) ราคาทุนดังกล่าวหมายถึงต้นทุนในการปลูกพืชเพื่อการให้ผลิตผลซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะให้ผลผลิต”

2. ค่าตัดจำหน่ายของพืชเพื่อการให้ผลิตผลคำนวณจากราคาทุน โดยวิธีเส้นตรงตามอายุการให้ผลผลิตของพืชเพื่อการให้ผลิตผลที่เหลืออยู่ เช่น การให้ผลผลิตของต้นปาล์ม โดยปกติมีระยะเวลา 25 ปี เป็นต้น

       3. ค่าตัดจำหน่ายแสดงรวมอยู่ในการคำนวณผลการดำเนินงาน

       4. ไม่มีการตัดจำหน่ายสำหรับพืชเพื่อการให้ผลิตผลที่ยังไม่พร้อมเก็บเกี่ยว

       5. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชเพื่อการให้ผลิตผล ได้แก่ ค่าซ่อมบำรุงและปลูกเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วจะถือเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของกำไรหรือขาดทุนทั้งจำนวน

         ส่วนสินทรัพย์ชีวภาพที่เป็นผลิตผลที่ได้จากพืชเพื่อการให้ผลิตผล เช่น ในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่ง ซึ่งมีธุรกิจหลักคือการผลิตน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ด ในปาล์มดิบ   และเป็นเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันด้วย จะมีผลิตผลที่ได้จากพืชเพื่อการให้ผลิตผล คือ ผลปาล์มสดที่อยู่บนต้น นอกจากนี้กิจการยังมีต้นกล้าปาล์มสำหรับขาย รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นผลปาล์มสดที่เก็บเกี่ยวแล้ว เป็นต้น

              กิจการต้องเปิดเผยนโยบายการบัญชี ดังนี้

  1. การวัดมูลค่าของผลปาล์มสดที่อยู่บนต้น วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ซึ่งมูลค่ายุติธรรมนี้คำนวณโดยใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตอ้างอิงจากราคาผลปาล์มสดที่หน้าโรงงานหักประมาณการค่าใช้จ่าย ณ จุดเก็บเกี่ยว โดยการประเมินมูลค่าดังกล่าวต้องอาศัยข้อสมมติฐานและการประมาณการบางประการ เช่น ราคาผลปาล์มสด ณ จุดเก็บเกี่ยว น้ำหนักของผลปาล์มสดบนต้น และอัตราคิดลด เป็นต้น
  2. การวัดมูลค่าชองผลปาล์มสดที่เก็บเกี่ยวคำนวณโดยอ้างอิงจากราคาผลปาล์มสดที่หน้าโรงงานหักประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย
  3. การวัดมูลค่าของต้นกล้าปาล์มสำหรับขาย วัดมูลด้วยมูลค่ายุติธรรม ซึ่งคำนวณโดยอ้างอิงจากราคาขายหักประมาณการค่าใช้จ่ายในการขาย”

           นอกจากนี้ กิจการต้องเปิดเผยรายการผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ และผลต่างระหว่างมูลค่ายุติธรรมกับราคาทุนของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งบันทึกในส่วนของกำไรหรือขาดทุน

           ในกรณีที่ไม่สามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ สินทรัพย์ชีวภาพต้องวัดด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม และในทันทีที่มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพนั้นสามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย

–                จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นว่า กรณีพืชเพื่อการให้ผลิตผล จะวัดมูลค่าด้วยราคาทุนหักค่าตัดจำหน่ายสะสมและค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ (ถ้ามี)  ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์  ส่วนผลิตผลที่ได้จากพืชเพื่อการให้ผลิตผล ต้องวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 41 เรื่อง เกษตรกรรม