ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับคำว่า Free Float คืออะไร
Free Float เป็นค่าที่บอกปริมาณการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยว่ามากน้อยเพียงใด แล้วผู้ถือหุ้นรายย่อยคือใคร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นิยาม คำว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย หมายถึง ผู้ถือหุ้นที่มิได้เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders) กล่าวคือ ไม่ได้เป็น
- กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้บริหาร 4 ระดับแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่ 4 ทุกราย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องและบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่กล่าวมานี้
- ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มดังต่อไปนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน
- ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม คือมีพฤติการณ์ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดให้ Free Float เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการเข้าจดทะเบียนและดำรงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัทจดทะเบียนจะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว ซึ่งพิจารณาจากรายงานการกระจายหุ้นของผู้ถือหุ้นสามัญที่บริษัทจัดทำขึ้นจากรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ปรากฏ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date : RD) หรือวันปิดสมุดทะเบียน (Book Closing Date : BC) พักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท
ถ้าบริษัทจดทะเบียนใดมี Free Float ไม่เป็นไปตามที่กำหนดข้างต้น เช่น มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียง 13% ขาดไป 2% เป็นต้น จะมีผลดังนี้
- บริษัทที่มี Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เป็นปีที่ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะแจ้งสถานะและการดำเนินการให้บริษัทได้รับทราบว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยแจ้งภายใน 15 วันทำการนับจากวันครบกำหนดส่งรายงาน อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถส่งหนังสือทักท้วงได้หากพบว่าบริษัทมี Free Float เป็นไปตามเกณฑ์ ภายใน 15 วันนับจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งต่อบริษัท
- กรณีที่บริษัทมี Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เป็นปีที่ 2 ขึ้นไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะประกาศรายชื่อบริษัทนั้นต่อสาธารณะชนให้ทราบ และบริษัทจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่มนอกจากค่าธรรมเนียมรายปีที่บริษัทต้องชำระตามปกติ ตามสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ขาดและจำนวนปีที่ขาด โดยถ้ามีสัดส่วนที่ขาดไป ไม่เกิน 5% เช่น Free Float = 12%ปีที่เริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นปีที่ 1 จะเริ่มต้นชำระค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่ม 1 เท่าของค่าธรรมเนียมรายปี แต่ถ้าขาดไปมากกว่า 5% ไม่เกิน 10% เช่น Free Float = 6%จะเริ่มต้นชำระค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่มที่ 1.5 เท่า แต่หากขาดไปมากกว่า 10% -15% เช่น Free Float = 2%จะเริ่มต้นชำระค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่มที่ 2 เท่า และในปีต่อๆไป จะเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 0.5 เท่า จนกว่าบริษัทจะมี Free Float เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดคือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว
การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดเช่นนี้ เนื่องจาก Free Float เป็นส่วนสำคัญของการมีสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นได้อย่างคล่องตัวและได้ราคาที่เหมาะสม ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนจะต้องคอยตรวจสอบ Free Float ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
แหล่งอ้างอิง :
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฝ่ายกำกับบริษัทจดทะเบียน (2561, พฤษภาคม) แนวทางดำเนินการกรณีบริษัทจดทะเบียนกระจายการถือหุ้นรายย่อยไม่ครบถ้วน จาก https://www.set.or.th/dat/content/rule/th/FF_May2561