มัคคุเทศก์ควรสร้างอุปนิสัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ประกอบด้วยอุปนิสัย 7 ประการดังนี้
อุปนิสัยที่ 1 การคิดล่วงหน้า (Be Proactive) มัคคุเทศก์ควรคิดไว้ล่วงหน้าก่อนการลงมือกระทำสิ่งใด เช่น คิดก่อนทำ คิดก่อนพูด การทำสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายหรือข้อผิดพลาดย่อมดีกว่าการที่จะต้องแก้ไขหากความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้าจะส่งผลต่อระดับความพึงพอใจและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ลูกค้าได้รับ ทั้งนี้การคิดล่วงหน้าเปรียบเสมือนเป็นการริเริ่มคิดรับผิดชอบในชีวิตของตนเอง เนื่องจากการตัดสินใจของบุคคลจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา ดังนั้นการรู้ตนเอง (Self – Awareness) คือการมีสติรู้ตัวตลอดเวลาว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์ใด ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำจะเป็นอย่างไร และจะต้องตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นอย่างไรจึงจะถูกต้องและเหมาะสม
อุปนิสัยที่ 2 การคิดถึงผลลัพธ์ (Begin with the End in Mind) มัคคุเทศก์ควรรู้เป้าหมายของการกระทำหรือคิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายของการกระทำว่าเมื่อกระทำเสร็จสิ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นและมีประโยชน์กับใครอย่างไร ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน มีการกำหนดระยะเวลาไว้ และมีความเป็นไปได้ เช่น ภาพความสำเร็จในงานอาชีพมัคคุเทศก์ จะช่วยให้บุคคลนั้นมีความกระตือรือร้น มีทิศทางในชีวิต มีพลังและกำลังใจ รู้ความก้าวหน้าของตนและรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและช่วยกำหนดเส้นทางหรือทิศทางที่เหมาะสมในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามต้องการ
อุปนิสัยที่ 3 การทำสิ่งที่สำคัญก่อน (Put First Thing First) มัคคุเทศก์ควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ เลือกทำในสิ่งที่มีความสำคัญก่อน ทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และควรสอดคล้องสนับสนุนการนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งควรมีการประเมินผลของการกระทำนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ หากมีข้อผิดพลาดใดเกิดขึ้นจะช่วยให้สามารถแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
อุปนิสัยที่ 4 การคิดแบบชนะทุกฝ่าย (Think Win/Win) มัคคุเทศก์ควรคำนึงถึงแนวคิดของการทำงานที่จะให้ได้ประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดีกว่าการคิดแบบต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ การอยู่ร่วมกันในสังคมและการดำรงสัมพันธภาพที่ยั่งยืนจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้อื่น เช่น นักท่องเที่ยวหรือลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ชุมชน เป็นต้น โดยเฉพาะการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ทุกคนควรได้รับอย่างยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ การใส่ใจกับความรู้สึก รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การรักษาสัญญาทั้งคำพูดและการกระทำ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เป็นผู้มองโลกกว้าง มองโลกในแง่ดี มองเห็นคุณค่าของผู้อื่น ก็จะทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งมัคคุเทศก์เองและผู้รับบริการ
อุปนิสัยที่ 5 การเข้าใจผู้อื่นก่อน (Seek First to Understand Then to be Understood) มัคคุเทศก์ควรฝึกฝนตนเองในการพยายามทำความเข้าใจก่อนที่จะตัดสินการกระทำของผู้อื่นหรือก่อนที่จะให้ผู้อื่นเข้าใจตนเอง ดังนั้น 1) การเข้าใจพฤติกรรมผู้อื่นโดยพยายามทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาย่อมมีเหตุผลของการกระทำนั้น ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้ลดปัญหาความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น 2) การเป็นผู้ฟังที่ดีโดยรับฟังอย่างตั้งใจจะทำให้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้พูดได้ ช่วยให้มองเห็นประเด็นปัญหาของอีกฝ่ายหนึ่งได้ชัดเจน และอาจสามารถช่วยแก้ไขได้ตรงประเด็น และ 3) การพูดที่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจึงควรเป็นการพูดเพื่อแสดงความเข้าใจและมีความเห็นใจเพื่อช่วยลดปัญหาและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันได้
อุปนิสัยที่ 6 การเสริมแรงซึ่งกันและกัน (Synergize) มัคคุเทศก์อาจจำเป็นต้องประสานการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือมีการทำงานเป็นทีมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการทำงานที่ดี เช่น การทำงานร่วมกับผู้ช่วยมัคคุเทศก์ คนขับรถ แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร เป็นต้น ดังนั้น การประสานแนวคิด การปรับเปลี่ยนวิธีทำงานอย่างสร้างสรรค์ การกระตุ้นทีมงานให้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพและยอมรับในความสามารถของแต่ละบุคคลก็จะเป็นการเสริมแรงซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อุปนิสัยที่ 7 การเตรียมความพร้อมเสมอ (Sharpen the Saw) มัคคุเทศก์ควรเตรียมตัวให้พร้อมฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับโอกาสที่ดีหรือพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพอนามัย ด้านจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิ การมีทัศนคติบวก และด้านปัญญาความสามารถ เช่น การค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ และฝึกปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มัคคุเทศก์ควรนำแนวคิดของอุปนิสัยสู่ความสำเร็จทั้ง 7 ประการนี้ฝึกปฏิบัติจนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัวก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานในอาชีพมัคคุเทศก์เป็นอย่างมาก
ที่มา อารี พันธ์มณี (2558) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2565) การพัฒนาตนเองสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ (หน่วยที่ 7) ในเอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์และการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช