ลำดับขั้นความต้องการของบุคคลตามทฤษฎีของมาสโลว์เพื่อการพัฒนาตนของมัคคุเทศก์ แบ่งเป็น
ขั้นที่ 1 ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการลำดับต่ำสุดและเป็นพื้นฐานของชีวิต เป็นแรงผลักดันทางกายภาพ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ อากาศ ที่อยู่อาศัย หากมัคคุเทศก์มีรายได้จากการปฏิบัติงานเพียงพอก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยมีอาหารและทีพักอาศัยและจะมีกำลังทำงานต่อไป รวมทั้งการมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม เช่น ความสะอาด แสงสว่าง การระบายอากาศที่ดี การบริการสุขภาพ เป็นต้น เป็นการสนองความต้องการในลำดับนี้ได้
ขั้นที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (Needs for Safety) เป็นความต้องการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ความต้องการทางร่างกายได้รับการตอบสนองอย่างไม่ขาดแคลนแล้ว หมายถึง ความต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากอันตรายทั้งทางกายและจิตใจ ความมั่นคงในงาน ความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ การสนองความต้องการนี้ต่อมัคคุเทศก์อาจทำได้หลายอย่าง เช่น การประกันชีวิตและสุขภาพ การกำหนดกฏระเบียบข้อบังคับที่ยุติธรรม การจัดการด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการยอมรับ (Needs for Love and Acceptance) เมื่อมีความปลอดภัยในชีวิตและมั่นคงในการงานแล้ว มัคคุเทศก์จะต้องการความรัก มิตรภาพ ความใกล้ชิดผูกพัน ต้องการเพื่อน การมีโอกาสเข้าสมาคมสังสรรค์กับผู้อื่น ได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกในกลุ่มอื่นๆ
ขั้นที่ 4 ความต้องการนับถือตนเองและได้รับการเคารพจากผู้อื่น (Needs for Self-esteem and Respect of Others) เมื่อความต้องการความรักและการยอมรับได้รับการตอบสนองแล้ว มัคคุเทศก์จะต้องการสร้างสถานภาพของตัวเองให้สูงเด่นขึ้น เกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง มีความภูมิใจ สร้างการนับถือตนเอง ชื่นชมในความสำเร็จของงานที่ทำ ความมีเกียรติยศชื่อเสียงและได้รับการยกย่องจากผู้อื่น
ขั้นที่ 5 ความต้องการรู้และเข้าใจตนเอง (Knowledge and Understanding Needs) เป็นความต้องการในด้านความสามารถ ความสนใจ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่มัคคุเทศก์ทำแล้วเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างแท้จริง โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ในการทำงาน แต่จะทำทุกอย่างที่เป็นความสบายใจของตนเองและเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
ขั้นที่ 6 ความต้องการเข้าถึงสุนทรียะความดีงามของชีวิต (Needs for Aesthetics/Beauty) มัคคุเทศก์จะมีความสามารถในการมองเห็นสิ่งสวยงามที่อยู่รอบตัวที่คนอื่นมองไม่เห็น เข้าใจอย่างแจ่มชัดว่าตนเองและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ทุกสิ่งในโลกล้วนสวยงามและมีคุณค่าในตัวเอง
ขั้นที่ 7 ความต้องการเข้าถึงศักยภาพแห่งตน (Self-actualization Needs) เป็นความต้องการที่มัคคุเทศก์ต้องการที่จะเติมเต็มศักยภาพของตนเอง ต้องการความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาของตัวเอง ความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาทักษะความสามารถให้ถึงขั้นสูง มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ การก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในอาชีพและการงาน
ขั้นที่ 8 ความต้องการเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมในการอุทิศตนเพื่อมวลมนุษยชาติ (Transcendence Needs) มัคคุเทศก์มีความปรารถนาเป็นอัจฉริยะบุคคลที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับมนุษยชาติอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เป็นความต้องการในการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น
ที่มา ธัญญภัสร์ ศิรธัชนราโรจน์ (2560) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2565) การพัฒนาตนเองสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ (หน่วยที่ 7) ในเอกสารการสอนชุดวิชาความรู้เฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์และการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช