ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้แก่นักท่องเที่ยว ได้แก่
1. Digital Platform เพื่อการท่องเที่ยวแบบ New Normal
1.1 Safety & Health Administration Booking Authentication – SHABA (www.thailand shaba.com) เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้ออกใบ Hotel Confirmation ในการขอออกหนังสือรับรองการเข้าประเทศ (COE) โดยโรงแรมที่จะเข้าพัก จะต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข SHA PLUS โดยเครื่องหมายดังกล่าว จะแสดงถึงความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งพนักงานในสถานประกอบการต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 70%
1.2 ทักทาย (TAGTHAi) เป็นแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว ภายใต้คอนเซ็ป9N “Travel It Yourself” เที่ยวไทยง่าย ได้ครบตามใจคุณ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลที่ท่องเที่ยวในไทย แพลนทริป จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ร้านอาหาร และชำระเงินได้ผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชั่นขอความช่วยเหลือที่เชื่อมต่อกับตำรวจไทยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น
1.3 Agoda.com แพลตฟอร์มการจองที่พักระดับโลก ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มฟังก์ชั่นการจองแพ็คเกจสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine หรือ ASQ) สำหรับนักเดินทางที่ต้อง Quarantine ในประเทศไทย
2. Digital Content เพื่อการท่องเที่ยวแบบ New normal คือการใช้สื่อหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้อมูล หรือเนื้อหาต่างๆ ในหลายรูปแบบ ทั้ง VDO AR VR บทความ รูปภาพ เป็นต้น เพื่อความบันเทิง และให้ความรู้ ยกระดับประสบการณ์ในการเข้าถึงสาระของเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการค้นหาข้อมูล เผยแพร่ หรือส่งต่อเนื้อหา ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ หรือกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้ ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
2.1 Virtual Tour: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำ Virtual Tour สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เช่น ปราสาทหินพิมาย วัดศรีชุม บ้านหนังตะลุง เป็นต้น และยังมี Virtual Travel Expo 2020 มหกรรมท่องเที่ยวไทยในโลกเสมือนจริง เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Virtual Tour ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เอกชนเป็นเจ้าของ เช่น ตึกมหานคร มิวเซียมสยาม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โบสถ์กาลหว่าร์ และ YuYuan Art & Antique โดยการท่องเที่ยวผ่านระบบออนไลน์แบบ Virtual Tour ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เห็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวแบบเสมือนจริง และช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด 19 จากการเดินทาง
2.2 เกมโปเกมอน โก นำ AR มาประยุกต์ใช้ในเกม เพื่อให้ผู้เล่นออกเดินทางไปตามหาโปเกมอนตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผสมผสานโลกความจริงเข้ากับโลกดิจิทัล
ที่มา ณัฐกุล อาชาเทวัญกพันธุ์. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคตะวันออก. สืบค้นจาก
https://www.depa.or.th/th/article-view/digital-platform-new-normal-smart-tourism