การซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท โดยการซื้อหุ้นคืนของบริษัทในแต่ละครั้ง จะทำให้จำนวนหุ้นที่อยู่ในมือของผู้ถือหุ้นลดลง จึงเป็นการลดจำนวนหุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทสูงขึ้นซึ่งอาจทำให้ราคาตลาดของหุ้นสูงขึ้นสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของหุ้น นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น โดยบริษัทอาจซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของบริษัทในเรื่องเกี่ยวกับการให้สิทธิออกเสียงลงคะแนน และสิทธิในการรับปันผลของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ ทำให้บริษัทบริหารงานต่อไปได้ ลดปัญหาขัดแย้งระหว่างบริษัทและผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือของผู้บริหารที่จะสะท้อนมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมโดยสามารถสร้างอุปสงค์ในหลักทรัพย์ จากการซื้อหุ้นคืนได้ หากเห็นว่าหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ราคาซื้อขายเคยอยู่ในระดับที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value) แต่ปัจจุบันราคาลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่เป็นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดี เป็นต้น และเพิ่มอุปทาน โดยการเสนอขาย เมื่อหุ้นมีราคาสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยให้หุ้นของบริษัท มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เป็นการบริหารการเงิน เมื่อบริษัทมีกำไรสะสมและมีสภาพคล่องสูง คือ มีเงินหมุนเวียนพอที่จะนำไปลงทุนในหุ้นของบริษัทเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยต้องไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และแผนการลงทุนในอนาคตของบริษัท
แหล่งอ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2557). คู่มือบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.
ฝ่ายกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์. (2548). ข้อแนะนำการให้สารสนเทศสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.
ฝ่ายกำกับบริษัทจดทะเบียน. (2552). คู่มือเบื้องต้นการปรับโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.