รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
ผู้ที่สนใจประกอบวิชาชีพผู้แนะนำการลงทุน หรือ Investment Consult (IC) อาจเรียกสั้นๆว่า ไอซี (IC) และผู้แนะนำการลงทุนในตลาดทุนจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในแต่ละประเภท ซึ่งการได้มาของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะต้องผ่านการทดสอบในแต่ละประเภท โดยการทดสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ที่ต้องการว่าจะทำหน้าที่ในประเภทใด การนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้ให้คำแนะนำการลงทุน เพื่อให้มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดมีทั้งหมด 2 กลุ่ม ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศเกี่ยวกับผู้แนะนำการลงทุนในตลาดทุนตามโครงสร้างใหม่ผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ซึ่งตามโครงสร้างใหม่ของใบอนุญาตจะจัดตามผลิตภัณฑ์แบ่งออก 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์ตราสารทั่วไป เป็นใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป หรือ IC Plain ผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทนี้ จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนในตราสารทุน กองทุนรวม ตราสารหนี้ ที่มีลักษณะไม่ซับซ้อน
กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง หรือมีความซับซ้อน เป็นใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนที่มีลักษณะความซับซ้อน ซึ่งใบอนุญาตประเภทนี้สามารถแบ่งย่อยได้ 2 กลุ่ม
2.1 ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 หรือ IC Complex 2 มีหน้าที่ให้คำแนะนำกองทุนรวม และตราสารหนี้ที่มีลัดษณะซับซ้อน
2.2 ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3 หรือ IC Complex 3 มีหน้าที่ให้คำแนะนำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ตราสารอนุพันธ์)
นอกจากนี้ ผู้แนะนำการลงทุนที่ต้องการทำหน้าที่ได้ครอบคลุมในทุกด้าน จะต้องผ่านการทดสอบให้มีคุณสมบัติ
ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 หรือ IC Complex 1 สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุนครอบคลุมทั้งตราสารที่มีลักษณะซับซ้อน และไม่มีลักษณะซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใบอนุญาตประเภทนี้จะต้องเตรียมความพร้อมและมีความรู้มากกว่าใบอนุญาตประเภทอื่นค่อนข้างมาก
ผู้ที่สนใจจะทำหน้าที่ผู้แนะนำการลงทุนในแต่ละประเภทจะต้องศึกษารายละเอียดข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าทดสอบความรู้ในแต่ละประเภท โดยเฉพาะความรู้ด้านตลาดทุนที่มีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละสายวิชาชีพก่อนเข้าสู่สนามทดสอบต่อไป…