ปรัชญาแห่งศาสตร์ (ตอนที่ 3) : วิธีวิทยา

วิธีวิทยา (Methodology) เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ความจริง หรือกระบวนการค้นหาความรู้ความจริงของศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) นั้นมีวิธีวิทยาที่แตกต่างกัน

การวิจัยเชิงปริมาณใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอนุมาน (Deductive Approach) เป็นการวิเคราะห์จากส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อยแล้วสรุปเป็นข้อค้นพบ (ทวีศักดิ์ นพเกษร, 2548 อ้างถึงใน นาคพล เกินชัย, 2559) สำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Sciences Research) นั้นมุ่งเน้นการหาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลลัพธ์ (Cause and Effect Relationship) ระหว่างตัวแปรอิสระ (Independent Variable) กับตัวแปรตาม (Dependent Variable) และตัวแปรอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบและยืนยันแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ โดยใช้สถิติ (Statistics) ในการอนุมาน และใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) จะมีการจัดกระทำกับตัวแปร (Manipulation) เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์

การวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปมาน (Inductive Approach) เป็นการวิเคราะห์จากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่แล้วสรุปเป็นองค์ความรู้ กฎ และทฤษฎี โดยมุ่งทำความเข้าใจปรากฏการณ์ (Phenomena) ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง (ทวีศักดิ์ นพเกษร, 2548 อ้างถึงใน นาคพล เกินชัย, 2559) และมุ่งการตีความหมาย (Interpretation) ความรู้ความจริงต่างๆที่เกิดขึ้น และการดำรงอยู่ของความรู้ความจริงในแต่ละบริบท (Context) ทางสังคม วิธีวิทยาของการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อให้ผู้วิจัยเข้าถึงความรู้ความจริงต่างๆที่เกิดขึ้น ได้แก่ วิธีวิทยาแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenological Approach) การสร้างทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory Methodology) การสนทนากลุ่ม (Focus Group) และการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
นาคพล เกินชัย. (2559). วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสม: วิธีวิทยาการวิจัยแบบที่สาม. ธรรมทรรศน์, 11(2), 297-314.