การเปิดประตูสู่ธรรมชาติ
การรับสาร คือ การจูนพลังงาน การเชื่อมโยง การรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่ปรากฎอยู่ โดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์ที่เราเคยประสบมาซึ่งมีหลายรูปแบบ ดังนั้น การนิยามอาจจะจำกัดโอกาสในการรับสาร หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง
โดยวิทยากรให้แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อในการทดลองปฏิบัติ 2 ประการ
1) ชีวิตทุกชีวิตมีคุณค่า และคู่ควรต่อการเคารพ
2) ทุกคนทำได้
เรียนรู้ทักษะการรับฟังเเละพื้นฐานการรับฟังธรรมชาติ
การสื่อสารกับธรรมชาติ เป็นแนวคิดที่ผู้สอนเรียนรู้จากสมาชิกของชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) เป็นชุมชนที่เกิดจากากรรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ทดลองและแสวงหากแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นไปเพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณและการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสกอตแลนด์ มีการรวมตัวกันมามากกว่า 50 ปีแล้ว ชุมชนทางเลือกแห่งนี้ ถือเป็นชุมชนทางจิตวิญญาณสมัยใหม่ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การทดลองของพวกเขาได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน และเริ่มออกเดินทางมาร่วมการทดลอง จนทำให้ชุมชนฟินด์ฮอร์นเติบโตและกลายเป็นแหล่งรวมการแลกเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ (กฤติยา ศรีสรรพกิจ 2563) ทั้งนี้ สิ่งที่แตกต่างและเป็ฯจุดเด่นของฟินด์ฮอร์น คือ การนำเสนอว่าการสื่อสารกับธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้ เป็นศักยภาพเดิมแท้ที่ทุกคนมี ไม่ได้จำกัดอยู่กับคนพิเศษบางกลุ่มเท่านั้น เป็นทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกได้ มนุษย์และธรรมชาติสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อการสร้างสรรค์ทางออกใหม่ ๆ ให้กับโลกได้ และธรรมชาติเองก็ต้องการ รวมทั้ง รอคอยโอกาสที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกับเรา
มีงานวิจัยหลายชิ้นกล่าวถึง การขาดสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ที่เกิดจากการขาดธรรมชาติ (Nature deficit) ที่นำไปสู่โรคขาดธรรมชาติที่เริ่มเกิดขึ้นในเด็ก (Nature deficit disorder) ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Last Child in the Woods ของ ริชาร์ด โลฟ (Richard Louv) กล่าวว่า เด็กที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน หรือในห้องเรียนให้ได้สัมผัสจับต้องกับธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดิน หญ้า ลำธาร หรือสวนสาธารณะใดๆ เลย โดยใช้เวลาอยู่แต่กับการเล่นมือถือ เกม คอมพิวเตอร์ หรือเรียนพิเศษจนหมดวัน จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น สมาธิสั้น มีปัญหาในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมบางอย่าง อาจก่อให้เกิดโรคอ้วน และเกิดความบกพร่องเรื่องความเห็นอกเห็นใจและความละเอียดอ่อน
การอยู่ในธรรมชาติทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สงบสบาย และเปิดกว้าง ทำให้เราช้าลง ได้พักผ่อน และกลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ความเชื่อนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่มักเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ ละเลยหรือหลงลืม เนื่องจากภาระกิจ ความรับผิดชอบ และความเร่งรีบของชีวิต ทำให้ไม่ได้สังเกตว่า บางทีความอ่อนล้า หมดแรง อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรือหงุดหงิดง่าย เกิดจากการที่เราใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองใหญ่ที่แยกขาดจากธรรมชาติ ดังนั้น การกลับไปซึมซับและรับพลังอันมหัศจรรย์จากธรรมชาติ โดยอาศัยผืนป่าและสรรพสิ่ง ผ่านความประสบการณ์ดั้งเดิมของแต่ละบุคคล ด้วยการให้เวลากับตนเองที่จะอยู่ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติผ่านกระบวนการเปิดรับจากผัสสะทั้ง 5 ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ที่เชื่อมโยงไปสู่จิตใจภายในจะช่วยสะท้อนให้ผู้คนได้ค้นพบบางสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจตัวเอง และค้นพบหนทางที่จะนำไปสู่การย่างก้าวสู่อนาคตได้ดียิ่งขึ้น
การเชื่อมโยงกับธรรมชาติในป่า
วิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ คือ การออกเดินทางไปสู่ป่า หรือพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งนี้ “ป่า” เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติเดิมแท้มากที่สุด ได้รับการรบกวนหรือปรับแต่งโดยมนุษย์น้อยที่สุด เป็นพื้นที่ที่เราจะได้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริงได้มากที่สุด และเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ในหลายประเทศ หลายวัฒนธรรมมีประเพณีของการออกไปใช้เวลาอยู่คนเดียวในป่า เพื่อการแสวงหาการตื่นรู้ พันธกิจแห่งชีวิต หรือเพื่อการฟื้นฟูและการบำรุงดูแลร่างกายและจิตใจ เป็นประเพณีที่มีการสืบต่อกันมาในหลากหลายรูปแบบมาช้านาน
อ้างอิง
บันทึกการเข้ารับการฝึกอบรม การรับฟังสารจากธรรมชาติ มูลนิธิโลกสีเขียว และ กฤติยา ศรีสรรพกิจ (2563) เปิดใจให้ธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)