ขยายเพดานการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

เป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อให้สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีได้นั้น  จะต้องพิจารณาจำนวนหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ลูกหนี้รายเล็ก ไม่เกิน  100,000 บาท (แต่ถ้าเป็นลูกหนี้ของธนาคาร หรือบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตัวเลขจะอยู่ที่ไม่เกิน 200,000 บาท) ลูกหนี้รายกลาง ไม่เกิน 500,000 บาท และลูกหนี้รายใหญ่ คือมีจำนวนเกิน 500,000 บาทขึ้นไป โดยการจำหน่ายหนี้สูญจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 261 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับ 11 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไป)

การจะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้จะต้องมีการติดตามทวงถามจากลูกหนี้และได้ดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละระดับของหนี้ในลูกหนี้แต่ละราย เช่น กรณีหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท  จะต้องดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือคดีล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว และกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่ถ้าหนี้เกิน 500,000 บาทขึ้นไป จะต้องดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว ส่วนกรณีลูกหนี้ที่ ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการฟ้องร้อง แต่จะต้องมีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ จึงจะสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้

จะเห็นว่า ในปัจจุบัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดข้างต้นไม่สอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีอากรที่ดี เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องมูลค่าของเงิน ภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้สถาบันการเงินมีการจัดชั้นสินทรัพย์และภาระผูกพันทางการเงินออกเป็น 3 ประเภท (จากเดิมที่กำหนดให้มีการจัดชั้นลูกหนี้ เป็น 6 ชั้น) เปลี่ยนเป็นให้จัดชั้นเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Non-Performing) (2) ประเภทที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Under-Performing) และ (3) ประเภทที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Performing) ตลอดจนสถาบันการเงินต้องกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชี ตามที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีลูกหนี้จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

แต่ก็นับเป็นข่าวดีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 อนุมัติหลักการร่างกฎหมาย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎหมายในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ สรุปได้ดังนี้

  1. ขยายเพดานการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป โดยยังคงแบ่งเป็น 3 ระดับเหมือนเดิม คือ ลูกหนี้รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ แต่ขยายเพดาน ดังนี้
  • รายเล็ก จากเดิม ไม่เกิน 100,000 บาท เป็น ไม่เกิน 200,000 บาท
  • รายกลาง จากเดิม ไม่เกิน 500,000 บาท เป็น ไม่เกิน 2,000,000 บาท
  • รายใหญ่ จากเดิม เกิน 500,000 บาทขึ้นไป เป็น เกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป
  • 2. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ เช่น เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วันหรือ 12 เดือน หรือเป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  • 3. กำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ ให้กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่ม ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

          นอกจากนี้ จะมีการปรับขั้นตอนการดำเนินงาน เช่น กรณีลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป  จะต้องมีการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ หรือฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง โดยมีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดที่ชัดเจน แน่นอนจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของนักบัญชีที่ทำงานให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องติดตามกันต่อไปค่ะ