จากการที่มีอาชีพเป็นอาจารย์และต้องหมุนเวียนกันทำหน้าที่บรรณาธิการชุดวิชา ผู้เขียนจึงเป็นบรรณาธิการคนแรกที่ต้องตรวจสอบตัวสะกดและความถูกต้องของข้อมูล หลังจากนั้นก็จะส่งต่อให้บรรณาธิการผู้ช่วย บรรณาธิการคนที่ 2 หรือ บ.ก.น้อย ก็แล้วแต่จะเรียกกันไป เพื่อให้ช่วยนำร่างหน่วยสุดท้ายส่งสำนักพิมพ์ทำอาร์ตเวิร์ก เมื่ออาร์ตเวิร์กเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรณาธิการทั้ง 2 คนก็ยังต้องช่วยกันตรวจสอบตัวพิมพ์และรูปแบบให้ถูกต้องสวยงาม ก่อนที่จะตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม วันนี้ผู้เขียนจึงถือโอกาสกล่าวถึง 10 คำศัพท์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่คนมักเขียนผิด ดังนี้
1. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Industry) มักเขียนกันว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ไม่ต้องมีคำว่า “การ” ตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555 มาตรา 4
2. มัคคุเทศก์ (Tourist Guide) หมายถึง ผู้นำทาง หรือผู้ทำหน้าที่นำเที่ยว มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี คือ “มัคคุ” แปลว่า ทาง สนธิกับคำว่า “อุเทศก์” แปลว่า ผู้นำ เป็นคำศัพท์ที่มีตัวการันต์ ซึ่งมักเขียนผิดเป็น “มัคคุเทศน์” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “มัคคุเทศก์”
3. รีสอร์ต (Resort) คนทั่วไปมักเขียนกันว่า “รีสอร์ท” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “รีสอร์ต” สะกดด้วย ต เต่า เป็นการทับศัพท์ตามหลักของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งระบุว่า ถ้า t เป็นตัวสะกด ให้ใช้ ต เต่า ไม่ใช่ ท ทหาร
4. เช็กอิน (Check-in) คำว่า Check ที่หมายถึง ตรวจสอบ คนทั่วไปมักเขียนกันว่า “เช็คอิน” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “เช็กอิน” ตามหลักการทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตยสภา คำภาษาอังกฤษที่ลงท้าย ck ให้ใช้ ก ไก่ เป็นตัวสะกด ไม่ใช่ ค ควาย
5. เสิร์ฟ (Serve) หมายถึง ให้บริการ มักใช้ในบริบทของการนำอาหารไปส่งลูกค้าที่โต๊ะ ในภัตตาคารใหญ่ ๆ จะมีผู้ทำหน้าที่เสิร์ฟอาหารโดยเฉพาะ เรียกว่า “พนักงานเสิร์ฟ” คำนี้มักเขียนผิดเป็น “เสริฟ” “เสริฟ์” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “เสิร์ฟ”
6. ไนต์คลับ (Night Club) คนทั่วไปมักเขียนกันว่า “ไนต์ คลับ” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “ไนต์คลับ” คำนี้เป็นคำประสม ในภาษาอังกฤษเขียนแยกกัน เมื่อใช้คำทับศัพท์เป็นภาษาไทยให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องแยกคำตามภาษาอังกฤษ
7. พืชพรรณ (Florae) กล่าวในบริบทของการเข้าไปเที่ยวชมธรรมชาติ แล้วได้เห็นพืชนานาพรรณ บางคนเขียนว่า “พืชพันธุ์” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “พืชพรรณ” แม้ทั้ง “พันธุ์” และ “พรรณ” จะออกเสียงเหมือนกัน แต่ “พรรณ” หมายถึง ชนิด มักใช้กับพืช เป็นพืชพรรณ ส่วนคำว่า “พันธุ์” หมายถึง เผ่าพงศ์ เมื่อใช้กับคำว่า “เผ่า” เป็นเผ่าพันธุ์ สรุปว่า ถ้าใช้กับคน ควรใช้ “พันธุ์” ถ้าใช้กับสัตว์หรือต้นไม้ ควรใช้ “พรรณ” อย่างไรก็ดี สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า ในบางบริบท “พันธุ์” ก็ยังสามารถใช้ในที่ซึ่งเป็นพืชได้ เช่น พันธุ์ข้าว ส่วน “พรรณ” ใช้ในที่ซึ่งเป็น “ชนิด” อย่างเดียว
8. เต็นท์ (Tent) หมายถึง ที่พักอาศัยชั่วคราว ย้ายไปได้ โดยมากทำด้วยผ้าใบขึงกับเสาหรือหลัก บางคนอาจเขียนว่า “เต๊นท์” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “เต็นท์” การนำไม้ไต่คู้มากำกับหรือวางบนตัวอักษร เพื่อทำให้คำที่มีไม้ไต่คู้มีเสียงสระสั้นลง เช่น เก็บ เห็น เด็ก ส่วนไม้ตรีใช้กำกับตัวอักษรให้เป็นเสียงตรี เฉพาะพยัญชนะเสียงกลาง ทั้งที่เป็นสระเสียงสั้นและสระเสียงยาว เช่น จุ๊กจิ๊ก โต๊ะ ปาเต๊ะ
9. โพสท่าถ่ายรูป (Pose) คนทั่วไปมักเขียนว่า “โพสต์ท่าถ่ายรูป” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “โพสท่าถ่ายรูป” ทั้งนี้คำว่า “โพสต์” ซึ่งสะกดด้วย ต เต่า การันต์ จะใช้ในความหมายของการโพสต์ข้อความ โพสต์รูปลงในโซเชียลมีเดีย
10. เกสต์เฮาส์ (Guest House) หมายถึง ที่พักขนาดเล็ก ซึ่งเจ้าของบ้านนำมาปรับปรุง ดัดแปลงหรือสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้บริการที่พักแรมแก่นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่มีราคาค่าเช่าไม่แพง มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น และมีจำนวนห้องไม่มากนัก คนทั่วไปมักเขียนว่า “เกสเฮ้าส์” ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “เกสต์เฮาส์” การเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ต้องใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์
ทั้ง 10 คำนี้ เป็นเพียงตัวอย่างคำศัพท์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษและมักเขียนผิดกันมาก ราชบัณฑิตยสภาและพระราชบัญญัติของไทย ได้ระบุความหมายของคำและให้หลักในการเทียบเคียง เพื่อให้สะกดคำออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
เอกสารอ้างอิง
พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551
พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555
ศศิธร มัตซึโมโตะ. (2013). คำที่มักเขียนผิด ตอนที่ 4: คำที่มีตัวการันต์ (ต่อ) และคำที่มักเขียนตัวสะกดผิด. ใน TPA news คอลัมน์สนุกกับภาษา.
February 2013 No.194 หน้า 55-56.