การวิจัยเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยทำให้ได้ข้อเท็จจริง หรือความรู้ที่ถูกต้อง เที่ยงตรงมากกว่าวิธีการอื่น เนื่องจากมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. การให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม (Research Question-oriented) การวิจัยด้านการท่องเที่ยวเริ่มต้นได้ด้วยการตั้งคำถามที่แต่ละคนสนใจแล้วพัฒนาเป็นโจทย์การวิจัย
2. การสนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) การตั้งคำถามในการวิจัยด้านการท่องเที่ยวช่วยทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและนำไปสู่การพยายามหาคำตอบ และการค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก
3. การให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีวิจัย (Methodology-oriented) การวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นกระบวนการที่มีระบบ ขั้นตอนและแบบแผนที่แน่นอน ชัดเจน ตลอดจนมีการรายงานผลการวิจัยต่อสาธารณะที่ทำให้ได้ข้อสรุปที่มีความเที่ยงตรง เป็นกลางและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
4. การเป็นเรื่องสาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว (Public Interest) งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวส่วนมากมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ผลงานได้ เพราะงานวิจัยมักทำขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว
5. การวิพากษ์และแก้ไขตนเอง (Self-criticism & Self-correcting Process) เป็นการตรวจสอบข้อผิดพลาดตลอดจนความเที่ยงตรงของข้อมูลที่ได้จากการวิจัยด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการวิจัยเปิดโอกาสให้นักวิจัยและสาธารณะได้ทบทวนจุดดีและจุดด้อยของผลการวิจัยได้อย่างอิสระ ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดได้ในที่สุด ในส่วนของการวิพากษ์จะนำเสนอในการอภิปรายผลที่ได้รับจากงานวิจัย
6. ความต่อเนื่องและการกระทำซ้ำได้ (Cumulativeness & Replication) การวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นวิธีการที่สามารถกระทำซ้ำและต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น และเป็นการพิสูจน์ซ้ำในสิ่งแวดล้อมหรือบริบทเดิม
7. ความเป็นระบบ (Systematic Process) การวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นวิธีการที่มีระบบชัดเจน ต้องมีการวางแผนในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามหลักการที่ได้วางไว้เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถนำเสนอต่อที่ประชุมหรือสาธารณะได้
8. การให้คำอธิบายอย่างมีเหตุผล (Rational Explanation) การหาคำตอบการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นกระบวนการที่ใช้หลักเหตุและผลเชิงนิรนัย (Deductive Reasoning) ซึ่งเป็นการนำความรู้พื้นฐานที่เป็นกฎ ข้อตกลง ความเชื่อ หรือบทนิยามที่รู้มาก่อนและยอมรับว่าเป็นความจริงเพื่อหาเหตุผลนำไปสู่ข้อสรุป เป็นการอ้างเหตุผลที่มีข้อสรุปตามเนื้อหาสาระที่อยู่ภายในขอบเขตของข้ออ้างที่กำหนด หรือเรียกว่าเป็นการให้เหตุผลจากบนลงล่าง (Top-Down Logic) และการใช้หลักเหตุและผลเชิงอุปนัย (Inductive Reasoning) เป็นวิธีการสรุปผลมาจากการค้นหาความจริงจากการสังเกตหรือการทดลองหลายครั้ง แล้วนำมาสรุปเป็นความรู้แบบทั่วไป หรือเรียกว่าเป็นการให้เหตุผลจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Logic)
9. ความเป็นวงจร (Cycle) การวิจัยด้านการท่องเที่ยวเป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ไม่สิ้นสุด โดยมีจุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม พัฒนาเป็นโจทย์การวิจัย สมมติฐาน การวางแผนดำเนินการวิจัย การเก็บรวบรวม การวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งกระบวนการนี้จะนำไปสู่การขยายแนวคิดอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ
ที่มา : สุทิติ ขัตติยะ และวิไลลักษณ์ สุวจิตตานนท์ (2554) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2563) การวิจัยด้านการท่องเที่ยว (หน่วยที่ 13) ในเอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพการจัดการการท่องเที่ยว นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช