ต้นทุนผลิตภัณฑ์ : จำแนกประเภทตามหน้าที่
ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Costs) คือรายจ่าย หรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ต้นทุนผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามหน้าที่ ได้แก่ ต้นทุนผลิต และต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับต้นทุนผลิต (ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์, 2567: น. 11)
1. ต้นทุนผลิต (Cost of Manufacturing) หมายถึง ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ (ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์, 2567: น. 15) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้นทุนผลิตเป็นรายจ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแปลงสภาพปัจจัยการผลิต หรือปัจจัยนำเข้าทั้งหมดให้เป็นผลผลิต หรือสินค้า ต้นทุนผลิต ประกอบด้วยต้นทุน 3 ประเภท ได้แก่ ค่าวัตถุทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต
1.1 ค่าวัตถุทางตรง (Direct Material) หมายถึง ต้นทุนของวัตถุ หรือสิ่งของที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าที่ผลิต ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่าในการผลิตสินค้า 1 หน่วยนั้น จะต้องใช้ค่าวัตถุทางตรงเป็นจำนวนเท่าใด โดยปริมาณที่ใช้จะผันแปรไปตามจำนวนที่ผลิต (ธัญญรัศม์ วศวรรณวัฒน์, 2561: น. 1-21) เช่น ผ้าเป็นวัตถุทางตรงในการผลิตเสื้อ และไม้เป็นวัตถุทางตรงในการผลิตเฟอร์นิเจอร์
1.2 ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor) หมายถึง ค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่จ่ายให้แก่พนักงานที่ทำหน้าเกี่ยวกับการผลิตโดยตรง และสามารถคิดเข้าเป็นต้นทุนของหน่วยที่ผลิตได้โดยง่าย เช่น ค่าแรงงานของพนักงานตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นค่าแรงทางตรงในการผลิตเสื้อ และค่าแรงงานของช่างไม้เป็นค่าแรงทางตรงในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ธัญญรัศม์ วศวรรณวัฒน์, 2561: น. 1-21)
1.3 ค่าใช้จ่ายการผลิต (Manufacturing Overhead) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผลิตสินค้าที่นอกเหนือจากค่าวัตถุทางตรง และค่าแรงงานทางตรง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การผลิตสำเร็จ ค่าใช้จ่ายการผลิตมักให้ประโยชน์โดยรวม และเป็นรายการที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากการผลิตสินค้าหน่วยใดโดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายการผลิตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ค่าวัตถุทางอ้อม ค่าแรงงานทางอ้อม และค่าใช้จ่ายโรงงานอื่นๆ (ธัญญรัศม์ วศวรรณวัฒน์, 2561: น. 1-22)
1.3.1 ค่าวัตถุทางอ้อม หมายถึง วัตถุที่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักในการผลิตสินค้านั้น เช่น วัสดุโรงงาน และน้ำมันหล่อลื่น
1.3.2 ค่าแรงงานทางอ้อม หมายถึง ค่าจ้าง หรือเงินเดือนแรงงานที่ไม่เกี่ยวกับการแปลงสภาพวัตถุทางตรงให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น เงินเดือนผู้จัดการโรงงาน ค่าจ้างพนักงานทำความสะอาด และค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงาน
1.3.3 ค่าใช้จ่ายโรงงานอื่นๆ เช่น ค่าเช่าโรงงาน ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยโรงงาน ค่าเสื่อมราคาโรงงานและเครื่องจักร และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร
ทั้งนี้จากการจำแนกค่าใช้จ่ายการผลิตออกเป็น 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น สามารถเขียนเป็นสมการเพื่อใช้ในการคำนวณ “ค่าใช้จ่ายการผลิต” ได้ดังนี้
ค่าใช้จ่ายการผลิต = ค่าวัตถุทางอ้อม + ค่าแรงงานทางอ้อม + ค่าใช้จ่ายโรงงานอื่นๆ
สรุปได้ว่า ต้นทุนผลิต ประกอบด้วยต้นทุน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ค่าวัตถุทางตรง 2) ค่าแรงงานทางตรง และ 3) ค่าใช้จ่ายการผลิต ทั้งนี้หากนำ ค่าวัตถุทางตรง มารวมกับ ค่าแรงงานทางตรง จะเรียกว่า “ต้นทุนขั้นต้น” (Prime Costs) และหากนำ ค่าแรงงานทางตรง มารวมกับ ค่าใช้จ่ายการผลิต จะเรียกว่า “ต้นทุนแปลงสภาพ” (Conversion Costs) เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ใช้ในการแปลงสภาพวัตถุทางตรงให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป (ธัญญรัศม์ วศวรรณวัฒน์, 2561: น. 1-22) สามารถเขียนเป็นสมการเพื่อใช้ในการคำนวณ “ต้นทุนผลิต” ได้ดังนี้
ต้นทุนผลิต = ค่าวัตถุทางตรง + ค่าแรงงานทางตรง + ค่าใช้จ่ายการผลิต
ต้นทุนผลิต = ต้นทุนขั้นต้น + ค่าใช้จ่ายการผลิต
หรือ
ต้นทุนผลิต = ค่าวัตถุทางตรง + ต้นทุนแปลงสภาพ
ต้นทุนผลิต นิยมเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเภทธุรกิจ โดยธุรกิจผลิตจะเรียกต้นทุนผลิตว่า “ต้นทุนสินค้าสำเร็จรูป” หมายถึง ราคาทุนของสินค้าที่ผลิตเสร็จพร้อมที่จะขาย ซึ่งเรียกว่า “สินค้าสำเร็จรูป” ส่วนราคาทุนของสินค้า คือต้นทุนสินค้าที่ผลิตเสร็จในงวดนั้นๆ ในส่วนของธุรกิจบริการจะเรียกต้นทุนผลิตว่า “ต้นทุนบริการ” หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ใช้สำหรับการให้บริการลูกค้า และธุรกิจซื้อมาขายไปจะเรียกต้นทุนผลิตว่า “ต้นทุนสินค้า” หมายถึง ราคาทุนของสินค้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่ายต่อ ประกอบด้วย ค่าซื้อสินค้า ค่าขนส่งในการซื้อ ค่าเก็บรักษาสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆที่ทำให้สินค้าพร้อมขาย เช่น ค่าตกแต่งสินค้า และค่าแพคเกจจิ้ง (ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์, 2567: น. 12)
2. ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับต้นทุนผลิต หมายถึง ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ได้แก่
2.1 ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expense) เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในส่วนงานขายเท่านั้น เช่น ค่าการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขาย ค่าโทรศัพท์พนักงานขาย ค่าคอมมิชชันพนักงานขาย และเงินเดือนพนักงานขาย
2.2 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administration Expense) เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในส่วนงานบริหาร เช่น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ และผลประโยชน์เกื้อกูลอื่นๆของพนักงานและผู้บริหารฝ่ายสำนักงาน
2.3 ดอกเบี้ยเงินกู้ คือดอกเบี้ยจ่ายสำหรับกิจการที่กู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน หรือเรียกว่า “ต้นทุนทางการเงิน” (Financial Costs) เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft: OD) ดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note: P/N) และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะยาว (Long Term Loan: LT Loan)
เอกสารอ้างอิง
1) ธัญญรัศม์ วศวรรณวัฒน์. (2561). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบัญชีต้นทุน. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการบัญชีต้นทุนและการบัญชีเพื่อการจัดการ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4, หน่วยที่ 1, น. 1-1 – 1-48). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2) ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์. (2567). การคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย. เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตรการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย รุ่นที่ 2. ชลบุรี: ศูนย์บูรณาการทางธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อัดสำเนา).