การเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการออกแบบ
โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงงานในขั้นตอนนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงงานที่มีสาเหตุจากเจ้าของโครงการเป็นหลัก ดังนี้คือ
1. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในด้านรูปแบบของโครงการ (Programmatic change) ในฐานะเจ้าของโครงการในบางครั้งเมื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ ทั้งจากสภาพทางกายภาพ เศรษฐกิจ การลงทุน สังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว อาจมีผลทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย รายละเอียด หรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโครงการไปจากที่กำหนดไว้เดิม โดยอาจเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพียงบางส่วนหรืออาจเปลี่ยนแปลงทั้งโครงการ เช่น การเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยพื้นที่ภายในอาคารจากห้องประชุมเป็นห้องอาหาร หรือการยกเลิกพื้นที่สำนักงานบางส่วนออกไปจากโครงการ เป็นต้น
2. การเปลี่ยนแปลงในด้านงานระบบ (System change) เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านงานระบบเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะการใช้ประโยชน์ภายในอาคาร หรือเพื่อการลดต้นทุนในการทำงาน เช่น ในการออกแบบงานระบบประกอบอาคาร โดยเปลี่ยนแปลงระบบปรับอากาศให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เป็นต้น
ดังนั้นจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ผู้ทำงานแต่ละฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เจ้าของโครงการต้องการเปลี่ยนแปลงงานตามเหตุผลของตน ในขณะที่ผู้ออกแบบมุ่งที่จะทำงานของตนให้แล้วเสร็จ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องทำการเจรจาต่อรองถึงการเปลี่ยนแปลงงานดังกล่าวว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะมีผลกระทบตามมาในด้านใดบ้าง
การเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการออกแบบนี้จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงงานทางด้านเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงงานตามสาเหตุข้างต้นระหว่างเจ้าของโครงการและผู้ออกแบบเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของผู้ออกแบบจะต้องมีหลักเกณฑ์ในการเจรจาต่อรองโดยมีการเตรียมข้อมูลอย่างดี เพื่อที่จะโน้มน้าวคู่เจรจาให้เชื่อตามแนวคิดของตนเองได้
เมื่อการเจรจาต่อรองด้านการเปลี่ยนแปลงงานในขั้นตอนการออกแบบได้รับการยอมรับ จะมีผลทำให้เกิดการปรับแก้ไขรายละเอียดในเอกสารเพื่อใช้ในการประกวดราคา รวมทั้งเอกสารสัญญาต่างๆ ดังนั้นสถาปนิกและ/หรือวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องจัดทำรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงงาน ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาเรื่องการปรับขอบเขตการทำงาน ค่าใช้จ่ายทางตรงของงานที่ได้ออกแบบใหม่ ค่าดำเนินการและกำไรของงานที่ปรับใหม่ เป็นต้น
ในส่วนของผู้จัดการด้านสัญญาหรือผู้จัดการโครงการ จะดำเนินการตรวจสอบขอบเขตการทำงาน ปรับปรุงการประมาณราคาของงาน เพื่อเตรียมการสำหรับการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคา โดยเปรียบเทียบกับราคากลางที่สถาปนิกหรือวิศวกรผู้ออกแบบได้ประมาณการไว้
การเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการก่อสร้าง
เมื่อได้ลงนามทำข้อตกลงในสัญญาก่อสร้างและสัญญาก่อสร้างนั้นมีผลบังคับใช้แล้ว ในทางปฏิบัติก็ยังคงต้องมีการเจรจาต่อรองอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยลักษณะการเจรจาต่อรองในขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาต่อรองทางด้านเทคนิคการทำงาน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงเรื่องต้นทุนการก่อสร้างและเวลาการทำงาน โดยอาจมีสาเหตุมาจากเจ้าของโครงการหรือผู้ทำการก่อสร้างหลัก ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเจรจาต่อรองมี 3 ประการคือ ความผิดพลาดหรือความละเลยของผู้ออกแบบ ความต้องการของเจ้าของโครงการเปลี่ยนแปลง และผู้ทำการก่อสร้างไม่มีศักยภาพ
1) ความผิดพลาดหรือความละเลยของผู้ออกแบบ บางครั้งผู้ออกแบบอาจเกิดความผิดพลาดในการทำงาน ทำให้แบบรูปที่ใช้ในการทำงานก่อสร้างไม่สมบูรณ์ มีข้อบกพร่องอันส่งผลทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบรูปและรายการละเอียดที่ใช้ในการก่อสร้างจริง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงงานที่ได้ตกลงทำสัญญาไปแล้ว หรือทำให้เกิดการเพิ่มลดเนื้องานของโครงการก่อสร้างได้ สาเหตุนี้เป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่จะระบุไว้ในสัญญาที่เป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงอาจไม่ค่อยมีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้นในเรื่องนี้มากนัก
2) ความต้องการของเจ้าของโครงการเปลี่ยนแปลง เมื่อโครงการก่อสร้างเริ่มดำเนินการ ในส่วนของเจ้าของโครงการเองบางครั้งก็อาจมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอีกได้เช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประกอบด้วย การเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ การขยายเนื้องานออกไปจากเดิม และการเร่งงานให้เสร็จเร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จะเกิดการเจรจาต่อรองทั้งระหว่างเจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ และผู้ทำการก่อสร้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโครงการจะมีผลกระทบทั้งต่อต้นทุนการทำงาน และระยะเวลาการทำงาน ซึ่งจะต้องหาข้อยุติระหว่างกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่ายให้ได้ก่อน
3) ผู้ทำการก่อสร้างไม่มีศักยภาพ ในบางโครงการโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ผู้ออกแบบได้กำหนดให้มีการใช้เทคนิคการก่อสร้างหรือเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทันสมัยเกินศักยภาพของผู้ทำการก่อสร้าง หรือใช้เทคนิคที่ผู้ทำการก่อสร้างไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ผู้ทำการก่อสร้างก็อาจจะต้องทำการเจรจาต่อรองเพื่อขอเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคนิคการทำงานที่ฝ่ายตนเองมีประสบการณ์
โดยปกตินั้นวิศวกรหรือสถาปนิกของเจ้าของโครงการเป็นผู้ที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงงานกับผู้ทำการก่อสร้างหลักอย่างเป็นทางการ โดยในการเปลี่ยนแปลงงานแต่ละครั้งควรทำการบันทึกรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่แก้ไขเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมไว้ และถ้าการเปลี่ยนแปลงงานดังกล่าวนั้นมีผลต่อเนื่องถึงงานของผู้รับเหมาย่อยและ/หรือผู้รับเหมาช่วง ผู้ทำการก่อสร้างหลักก็จะต้องทำข้อตกลงกับผู้รับเหมาย่อยและ/หรือผู้รับเหมาช่วงอีกทอดหนึ่ง และในกรณีของการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างนั้นก็จะต้องติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายให้จัดทำรายละเอียดใบเสนอราคามาใหม่
อย่างไรก็ตามถ้าหากการเปลี่ยนแปลงงานของเจ้าของโครงการมีปริมาณมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการทำงาน ผู้ทำการก่อสร้างนั้นก็สามารถที่จะเจรจาต่อรองขอขยายเวลาในสัญญาเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ทำการก่อสร้างหลักและผู้รับเหมาช่วงและ/หรือผู้รับเหมาย่อยจะต้องแจ้งเจ้าของโครงการว่างานที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีผลต่อระยะเวลาการทำงานของโครงการ และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงงานหลาย ๆ ครั้งก็จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงาน ทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน การทำงานเกินวงเงินงบประมาณที่ได้รับ จะมีผลต่อเนื่องถึงการเรียกร้องผลประโยชน์จากเจ้าของโครงการ และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานเกินงบประมาณที่ได้รับนั้น ควรศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงและวางแผนหาแนวทางแก้ไขไว้ล่วงหน้าด้วย
เอกสารอ้างอิง
ทิพวรรณ บุณย์เพิ่ม. (2558). หน่วยที่ 10 การเจรจาต่อรอง ในเอกสารการสอนชุดวิชา ประสบการณ์วิชาชีพการจัดการงานก่อสร้าง. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Barrie, D. S. & Paulson, B.C. (1992). Professional Construction Management (3rd ed.). New York: McGraw-Hill, Inc.
Pinkly, R. (1990). Dimensions of Conflicts Frame: Disputant Interpretations of Conflict Journal of Applied Psychology. Vol.75 No.2. pp 001-010.
Robbins, S.P. (2001). Organizational Behavior (9th ed.). Upper Saddle River, NJ: Prentice –Hall.