ก่อนจะที่ทราบถึงส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ก็ต้องกล่าวถึงเส้นทางสายสีชมพู (สายหลักศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ของบริษัท Bombardier รุ่น INNOVIA Monorail 300 อาณัติสัญญาณ Cityflo 650 ซึ่งเป็นรุ่นที่ทันสมัยที่สุดเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง แล้วที่สำคัญที่สุดคือ เป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไม่ใช้พนักงานขับประจำรถ (แต่อาจจะมีพนักงานประจำรถในกรณีฉุกเฉิน)
โดยสายนี้จะมีจุดตัดกับสายหลักถึง 5 จุด ทั้งที่ทำอยู่ในอนาคต ได้แก่
– สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สายสีม่วง (เปิดให้บริการแล้ว)
– สถานีหลักสี่ สายสีแดง (กำลังก่อสร้าง)
– สถานีวัดพระศรีฯ บางเขน สายสีเขียว (เปิดให้บริการแล้ว)
– สถานีวัชรพล สายสีเทา (ในอนาคต)
– สถานีมีนบุรี สายสีส้ม (กำลังก่อสร้าง)
โดยสายสีชมพูนั้นจะผ่านจุดสำคัญหลายๆ จุด เช่น ศูนย์ราชการนนทบุรี เมืองทองธานี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) ไปรษณีย์ไทย สถาบันจุฬาภรณ์ วงเวียนหลักสี่ สวนสยาม รวมมีทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลอีกหลายแห่งตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น และเป็นแหล่งงานที่สำคัญของกรุงเทพฯ โซนเหนือ
แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า เมืองทองธานี (ศูนย์แสดงสินค้า Impact) เป็นหนึ่งในศูนย์แสดงสินค้าที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีงานแสดงสินค้าเข้าและออกตลอด (ยกเว้นช่วง Covid แบบในปัจจุบัน) ทำให้ทางบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (Northern Bangkok Monorail: NBM) (บริษัทลูกของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BTS, RATCH และชิโนไทย) เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่เมืองทองธานี ในการส่งเสริมการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อให้ถึงพื้นที่ส่วนกลางของเมืองทองธานี ซึ่งแต่เดิมห่างจากสถานีศรีรัชสายสีชมพูอยู่ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยการทำสายแยก (Spur line) จากสายหลัก (Mainline) ที่สถานีศรีรัชมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองทองธานี อีก 2 สถานี คือ
– MT 01 สถานีชาเลนเจอร์
– MT 02 สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี
เส้นทางของโครงการสายสีชมพูส่วนต่อขยายสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เริ่มต้นจากด้านตะวันออกของสถานีศรีรัช ซึ่งจะเป็นสายแยกออกจากสายหลักเพื่อเข้าสู่ชานชาลาที่ 3 ของสถานีศรีรัช โดยเป็นสถานีเดียวของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่มี 3 ชานชาลา ตัวชานชาลาจะอยู่ด้านทิศเหนือของสถานีศรีรัชติดกับชานชาลาของทางรถไฟด้านมุ่งหน้าไปมีนบุรีหลังจากออกจากสถานีก็เข้าสู่ทางคู่ก่อนจะแยกเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทางเข้าหลักของเมืองทองธานี หลังจากวิ่งมาบนถนนเข้าเมืองทองธานีแล้วจะยกระดับขึ้นจาก 15 เมตร ไปที่ 24 เมตร ก่อนถึงจุดตัดกับทางด่วน ซึ่งช่องกลางทางด่วนได้เว้นช่องไว้รองรับแล้ว หลังจากนั้นจะวิ่งอยู่ในแนวตรงกลางระหว่างทางด่วนอุดรรัถยามุ่งหน้าขึ้นเหนือพอมาถึงตรงจุดวงเวียนเข้าอิมแพคก็เข้าสู่สถานีชาเลนเจอร์ MT-01 ซึ่งตัวอาคารสถานีจะเป็นรูปแบบชานชาลากลาง (เหมือนสายสีม่วง) เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างสถานีมีขนาดเล็ก อยู่ระหว่างทางด่วนอุดรรัถยาขาไปและกลับ พร้อมกับเชื่อมต่อกับ Skywalk ใหม่เข้าอาคารแสดงสินค้าชาเลนเจอร์หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไป แล้วข้ามทางด่วนอุดรัถยาอีกครั้งมุ่งหน้าไปทางทะเลสาบเมืองทองธานีเข้าสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี MT-02 สถานีปลายทางของสายแยกนี้ เป็นรูปแบบชานชาลาข้างอยู่ริมทะเลสาบพร้อมกับเชื่อม Skywalk ปัจจุบันที่ข้ามจาก Impact forum ผ่านหน้าสนามฟุตบอล SCG เมืองทอง มาที่ข้างทะเลสาบระยะทางรวม 3 กิโลเมตร
พื้นที่จอดรถภายในพื้นที่เมืองทองมีทั้งแบบเสียเงินและฟรี สามารถรองรับได้ทั้งหมดร่วม 10,000 คัน แต่หน้าบริเวณทะเลสาบเมืองทองจุดเดียวที่ปัจจุบันฟรีซึ่งติดกับสถานีทะเลสาบรองรับได้ถึงประมาณ 4,500 คัน ในอนาคตอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการโดยสารที่สำคัญสำหรับคนแถวสวนสมเด็จและภายในเมืองทองเอง
การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในส่วนต่อขยายนี้จะมีประมาณ 13,000 คน-ทิศทาง/วัน โดยจากการศึกษาพฤติกรรมผู้โดยสารคาดการณ์ว่าจะเดินทางมากในช่วงเช้า-เย็น สูงสุดประมาณ 2,000 คน/ชั่วโมง-ทิศทาง ในปีที่เปิดจะขยายตัวไปที่ 4,500 คน/ชั่วโมง-ทิศทาง อีก 30 ปี จากการศึกษาปริมาณผู้โดยสารแบ่งรูปแบบการจัดการเดินรถซึ่งใช้รถให้บริการพร้อมกัน 2 ขบวนเป็น 2 รูปแบบมาตรฐาน และ 1 รูปแบบพิเศษ คือ
– เดินรถช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 14 ชั่วโมง/วัน เดินรถที่ความถี่ 10 นาที (600 วินาที) /ขบวน โดยการใช้รางร่วมกันทั้ง 2 ขบวน โดยเริ่มจากสถานีศรีรัช ชานชาลา 3 สับราง เข้า MT-01 ชานชาลา 2 แล้วสับราง เข้า MT-02 ชานชาลา 1 แล้วค่อยกลับมาที่ MT-01 ชานชาลา 1 แล้วกลับมาที่สถานีศรีรัช ชานชาลา 3 แบบนี้ต้องสับราง 4 ครั้ง ในการเดินรถ 1 รอบ
– เดินรถช่วงในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น 4 ชั่วโมง/วันเดินรถที่ความถี่ 7.5 นาที (450 วินาที) /ขบวน โดยการใช้รางร่วมกันทั้ง 2 ขบวน โดยรถไฟแต่ละขบวนจะใช้แยกทางของรางทั้งไปและกลับ ลดการสับรางที่สถานี MT-02 แบบนี้ต้องสับราง 2 ครั้ง ในการเดินรถ 1 รอบ
– เดินรถเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารมากเป็นพิเศษจากการจัดงานที่มีผู้เข้าชมเยอะ เช่น Motor show หรือคอนเสิร์ตขนาดใหญ่เดินรถที่ความถี่ 5 นาที (300 วินาที) /ขบวน โดยการใช้รางร่วมกันทั้ง 2 ขบวน โดยจะมีการตัดรอบให้สั้น ขบวนหนึ่งสิ้นสุดให้บริการที่ MT-01 และอีกขบวนสิ้นสุดที่ MT-02 โดยรถไฟแต่ละขบวนจะใช้แยกและรางทั้งไปและกลับ ลดการสับรางที่สถานี MT-02 แบบนี้ต้องสับราง 2 ครั้ง ในการเดินรถ 1 รอบ
ซึ่งจากการประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงินได้ผลตอบแทนคือ
– ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ EIRR 12.2% NPV 62 B/C 1.02
– ผลตอบแทนทางการเงิน FIRR 5.63% NPV 378 ล้านบาท B/C 1.09
ซึ่งส่วนต่อขยายที่ก่อสร้างเข้าเมืองทองนี้ ทาง NBM เป็นผู้ลงทุนเพิ่มเอง โดยรัฐต้องจ่ายหรืออุดหนุนเพิ่มจากสัญญาเริ่มต้น แต่รัฐจะได้เงินจากส่วนแบ่งค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น
ที่มา: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, 2564.