หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond)เป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อจะนำเงินทุนไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนนักลงทุนก็ได้รับผลตอบแทนในรูปของคูปอง (Coupon) หรือดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ออกมักกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี ล่าสุด หุ้นกู้สีเขียวมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่อ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่นในลักษณะเดียวกันกับ หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) จึงกลายมาเป็น “หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์” (Structured Green Note) เพื่อให้ผลตอบแทนเป็นที่จูงใจนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
หุ้นกู้สีเขียวมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม และถือเป็นเครื่องทางการเงินที่สำคัญที่ใช้ในโครงการต่างๆ ที่ลดภาวะโลกร้อน หุ้นกู้สีเขียวฉบับแรกของโลกได้ออกขายในปี ค.ศ.2008 โดยธนาคารโลก (World Bank) เพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศต่างๆ ผ่านการกู้ยืม และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 เป็นต้นมาจากการที่รัฐบาลกว่า 195 ประเทศให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนนำไปสู่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศฝรั่งเศส
ในอาเซียนเริ่มมีการออกหุ้นกู้สีเขียวในปี ค.ศ.2016 โดยกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกของประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซียเริ่มมีการออก Green sukuk มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 โดยรุ่นแรกเป็นการออกเพื่อใช้ก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นก็มีการออก Green sukuk อีกหลายรุ่นส่วนใหญ่เพื่อนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับสิงคโปร์ การออกหุ้นกู้สีเขียวส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มธนาคาร เช่น ICBC, DBS, HSBC ซึ่งจะนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจสีเขียว ในรูปของเงินกู้สีเขียวต่อไป
ประเทศไทย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ออกหุ้นกู้สีเขียว เพื่อปล่อยกู้ให้กับโครงการที่มีแนวทางพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และโครงการเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เสนอขายเมื่อปี ค.ศ.2018 มูลค่ารวม 1,850 ล้านบาท ต่อมามีการออกหุ้นกู้สีเขียวหลายรุ่นในปี ค.ศ.2019 เช่น บมจ.บีทีเอส (BTS) ออกหุ้นกู้สีเขียว มูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้า บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ออกหุ้นกู้สีเขียวมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึง บมจ.บีกริมพาวเวอร์ฯ มูลค่า 3 พันล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
หุ้นกู้สีเขียว เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมากขึ้นในสภาวะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และรักษาสภาพแวดล้อมจึงเป็นทางเลือกใหม่ในการจัดหาเงินทุนของโครงการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุนอีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ปัณณ์ พัฒนศิริ. (2563). Green Bond การลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ. สืบค้นจาก: https://www.bam.co.th/article/224/
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2563). หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์…อีกรูปแบบหนึ่งในการรักษ์โลก. สืบค้นจาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2020/16092020.aspx
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย. (2563). Green bond ในอาเซียน. สืบค้นจาก: http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2020/18022020.aspx
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564
PeerPower Team. (2562). ตราสารหนี้สีเขียวในประเทศไทย. สืบค้นจาก: https://www.peerpower.co.th/blog/investor/invest/green-bond-2/
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2564