รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
การนำเสนอเนื้อหารสาระเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพตลาดจะแยกนำเสนอเป็นสองตอนคือ ตอนที่ 1 แนวคิดความมีประสิทธิภาพของตลาด และตอนที่ 2 สมมติฐานเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของตลาด ตามแนวคิดของ Fama (1970) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ตอนที่ 1 แนวคิดความมีประสิทธิภาพของตลาด
แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตลาดเป็นเรื่องทางการเงินที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ต้นปี 1970 (Sewell, 2012) และเมื่อ Fama (1970) ได้นำเสนอข้อสมมติฐานเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market Hypothesis: EMH) ก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น มีทั้งนักการเงินที่เห็นด้วยกับแนวคิด และผู้ที่โต้แย้ง แนวคิดที่สำคัญของ Fama มองว่าตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้นราคาของหลักทรัพย์จะปรับตัวสะท้อนข้อมูลทุกชนิด ซึ่งนักการเงินบางกลุ่มมองว่าราคาหลักทรัพย์อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยข้อมูลทุกชนิด และ EMH อาจเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้การทดสอบความมีประสิทธิภาพของตลาดก็ควรทดสอบทั้งประสิทธิภาพของตลาดและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน (Cox and Ross, 1976) นอกจากนั้น Beja (1977), Grossman and Stiglitz (1980) และ Tirole (1982) ได้โต้แย้งว่า การได้ข้อมูลข่าวสารย่อมมีต้นทุน ราคาก็ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลทุกชนิดได้อย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญคือ จะมีนักลงทุนรายใดที่ยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา
การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตลาดและตลาดกำลังจะเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังคงได้รับความสนใจตั้งแต่ปี 1980s และ 1990s จนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่าการศึกษาในระยะหลังปี 2000 จะสนับสนุนแนวคิดความมีประสิทธิภาพตลาด เนื่องจากมองว่าตลาดในปัจจุบันกำลังจะปรับตัวเข้าสู่ตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Sewell, 2012) การที่นักวิจัยมองว่าตลาดมีการปรับตัวไปสู่ตลาดที่มีประสิทธิภาพ และยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของตลาด จึงมีนัยที่จะกล่าวได้ว่าตลาดหลักทรัพย์โดยทั่วไปน่าจะเป็นตลาดที่ยังไม่มีประสิทธืภาพ ดังจะเห็นได้จากนักลงทุนสามารถใช้วิธีวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อพยากรณ์แนวโน้มราคาหลักทรัพย์ การเกิดปรากฎการณ์ Underpricing ของหลักทรัพย์ที่ออกจำหน่ายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก หรือปรากฎการณ์ของ Month-of-the-Year Effect หรือ Weekend Effect ซึ่งนักวิจัยล้วนมองว่าเกิดจากความผิดปกติของตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ (Shawawrek and Tarawneh, 2015 และ Chia and Liew, 2012)
ในทำนองเดียวกันนักวิจัยหลายท่านมองว่าการปรากฏพฤติกรรมทางฤดูกาลของผลตอบแทนตลาดหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสมมติฐานของความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market Hypothesis: EMH) โดยการค้นพบ Day-of-the-Week Effect หรือพฤติกรรมทางฤดูกาลในลักษณะอื่นสามารถอธิบายเป็นนัยได้ว่า ผู้ลงทุนสามารถใช้ผลของการค้นพบเหล่านั้นมาพยากรณ์รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอนาคตได้ หรือสามารถนำผลของการค้นพบมาประกอบการวางกลยุทธ์การลงทุนในหลักทรัพย์ได้ ซึ่งถ้าตลาดหลักทรัพย์เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพแล้วผู้ลงทุนจะไม่สามารถทำกำไรเกินปกติได้ ดังนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการกล่าวถึงความผิดปกติของตลาดหลักทรัพย์หรือประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น จะขอนำเสนอรายละเอียดของสมมติฐานเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของตลาดของ Fama (1970) ในตอนที่ 2 ต่อไป