องค์กรเติบโตมีกำไร พนักงานทุกคนก็ย่อมได้รับผลดีด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส ค่าตำแหน่ง หรืออื่นๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของทุกคน การสร้างความสำเร็จ ก็ถือเป็นกลยุทธอย่างหนึ่งที่จะนำพาทุกคนในองค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้นควรเริ่มจากกระบวนการทางความคิด ซึ่งกลยุทธ์แนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
จึงขอนำประเด็นสำคัญในการนำ Design Thinking มาสร้างความสำเร็จกับองค์กร ดังนี้ (ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ, 2562)
1. กระบวนการคิดในเชิงออกแบบจะทำให้เรามองเห็นวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
2. กระบวนการคิดในเชิงออกแบบจะทำให้เรารู้จักมองปัญหาตลอดจนโจทย์ของการทำงานต่างๆ ได้รอบทิศและรอบคอบขึ้น
3. ฝึกให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และมีลำดับการบริหารจัดการที่ดีไม่ว่าจะนำไปใช้กับการปฎิบัติงานอย่างไรก็ตาม
4. การสร้างความสำเร็จจากการออกแบบหรือ Design นั้นเป็นได้มากกว่าแค่การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ให้ออกมาเป็นวัตถุจับต้องได้ ซึ่งการออกแบบจริงๆ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
5. กระบวนการคิดในเชิงออกแบบถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรตลอดจนปลูกฝังระบบวิธีคิดรูปแบบนี้ให้กับบุคลากรในองค์กรที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเองได้ด้วย ซึ่งกระบวนการคิดในรูปแบบนี้มีลักษณะและกระบวนการที่สร้างสรรค์ขึ้นมาซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างดีทีเดียว
6. กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ให้ถูกจุด ตลอดจนพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่ตั้งไว้ เพื่อที่จะหาวิถีทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด การแก้ปัญหาบนพื้นฐานกระบวนการนี้จะเน้นยึดไปที่หลักของผู้ใช้/ผู้บริโภค (User-centered) เป็นหลัก โดยมีเจตนาในการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ตลอดจนแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
***มาทำความเข้าใจว่ากระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) มี 5 ขั้นตอนอะไรบ้าง (Molek, 2017)
1. Empathize – เข้าใจปัญหา
ขั้นแรกต้องทำความเข้าใจกับปัญหาให้ถ่องแท้ในทุกมุมมองเสียก่อน ตลอดจนเข้าใจผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย หรือเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการแก้ไขนี้เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมและดีที่สุดให้ได้ การเข้าใจคำถามอาจเริ่มตั้งด้วยการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน กระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ ตลอดจนวิเคราะห์ปัญหาให้ถ้วนถี่ เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนให้ได้ การเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้งถูกต้องนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นและได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
2. Define – กำหนดปัญหาให้ชัดเจน
เมื่อเรารู้ถึงข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน ตลอดจนวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว ให้นำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อที่จะคัดกรองให้เป็นปัญหาที่แท้จริง กำหนดหรือบ่งชี้ปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฎิบัติการต่อไป รวมถึงมีแก่นยึดในการแก้ไขปัญหาอย่างมีทิศทาง
3. Ideate – ระดมความคิด
การระดมความคิดนี้คือ การนำเสนอแนวความคิดตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่มีกรอบจำกัด ควรระดมความคิดในหลากหลายมุมมอง หลากหลายวิธีการ ออกมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะเป็นฐานข้อมูลในการที่เราจะนำไปประเมินผลเพื่อสรุปเป็นความคิดที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหานั้นๆ
4. Prototype – สร้างต้นแบบที่เลือก
หากเป็นเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมขั้น Prototype นี้ก็คือการสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบจริงก่อนที่จะนำไปผลิตจริง สำหรับในด้านอื่นๆ ขั้นนี้ก็คือการลงมือปฎิบัติหรือทดลองทำจริงตามแนวทางที่ได้เลือกแล้ว ตลอดจนสร้างต้นแบบของปฎิบัติการที่เราต้องการจะนำไปใช้จริง
5. Test – ทดสอบ
ทดลองนำต้นแบบหรือข้อสรุปที่จะนำไปใช้จริงมาปฎิบัติก่อน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ตลอดจนประเมินผล เสร็จแล้วก็นำเอาปัญหาหรือข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปใช้จริงอีกครั้งนั่นเอง