โลกของการตลาดปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล เพราะข้อมูลคือวัตถุดิบสำคัญที่นำไปสู่การวิเคราะห์ถึงความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ผู้ประกอบการมีฐานข้อมูลของผู้เข้าร่วมงานอยู่แต่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้อย่างไรให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ได้ลึกซึ้ง เพื่อพัฒนาการจัดงานอีเว้นต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การทำการตลาดแบบ Data-Driven Marketing
1. เริ่มต้นจากการใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อมีข้อมูลจำนวนมากควรใช้เวลามาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้อย่างไร ข้อมูลคือวัตถุดิบ เปรียบเสมือนวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น ไข่ไก่ เนื้อไก่ ผัก ก่อนจะรับประทานได้ต้องนำมาปรุงรสชาติ ต้องนำมาผัด ซึ่งต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์เช่นกัน ดังนั้น ขั้นตอนการวิเคราะห์ที่ง่ายที่สุด คือ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าอยากรู้อะไร เช่น ถ้าอยากกินผัดกะเพราไก่ไข่ดาว ให้เริ่มจดรายการว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง จากนั้นเปิดตู้เย็นดูว่ามีอะไร มีวัตถุดิบครบไหม หรือยังขาดอะไร ซึ่งตู้เย็นเปรียบเสมือน Database ที่เก็บข้อมูลไว้ ถ้าขาดข้อมูลที่ต้องการใช้จะได้ไปเก็บข้อมูลมาใหม่ หรือไปหาว่าข้อมูลนั้นถูกเก็บซ่อนไว้ในชุดข้อมูลไหน
หรืออีกหนึ่งวิธีการที่ง่ายกว่านั้นซึ่งเป็นหลักของ Data Thinking คือ เริ่มจากนำข้อมูลที่มีทั้งหมดขององค์กรมาดู เมื่อทราบข้อมูลว่ามีชื่อลูกค้า เบอร์โทรศัพท์ ชื่อบริษัทของลูกค้า ให้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ต่อว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มางานอีเวนต์ของเราอยู่ในวงการธุรกิจใด หรือเป็นกลุ่มคนที่มีตำแหน่งงานใดมากที่สุด แล้วจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้กลับมางานอีเวนต์อีกครั้ง หรือจะไปขยายหากลุ่มคนประเภทนี้มางานอีเวนต์เพิ่มได้อย่างไร ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นเข็มทิศให้เดินหน้าธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
2. การเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมงานอีเวนต์ วิธีการหนึ่งที่ง่ายที่สุดคือ การทำผ่าน Typeform หรือเครื่องมือสร้างแบบสอบถามออนไลน์ เช่น Google Form เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วให้นำมากรอกลง Microsoft Excel หรือ Google Sheet โดยจัดระเบียบข้อมูลให้ดี เช่น ที่อยู่ ให้แบ่งเป็น ถนน เขต/ตำบล แขวง/อำเภอ และจังหวัด เบอร์โทรศัพท์ ควรระบุในฟอร์มว่าให้กรอกแบบตัวเลขติดกัน กรอกแบบมีขีด หรือกรอกแบบมีรหัสประเทศนำหน้าในกรณีที่ผู้เข้าร่วมงานมาจากหลายประเทศ และ ข้อมูลเพศ สามารถทำเป็นบูลเล็ตให้เลือกได้เพราะมีตัวเลือกน้อย คือเพศหญิง เพศชาย หรือไม่สะดวกตอบ/ไม่ระบุ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มาชัดเจน นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาทำ Data Preparation คือ การปรับเปลี่ยนข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม หรือให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ฉะนั้น ถ้าวางโครงสร้างการกรอกข้อมูลตรงนี้ให้ดีตั้งแต่แรกจะสามารถนำไปใช้งานต่อได้รวดเร็วขึ้น
3. การวางกลยุทธ์ให้ถูกใจลูกค้าจากข้อมูลที่มีอยู่กุญแจสำคัญในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้าที่มีอยู่คือการให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ข้อมูล และจะเริ่มเห็นข้อมูลเชิงลึก (Insight) บางอย่างว่ากลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มมี Background อย่างไร มีความต้องการแบบไหน ต้องการวิธีการสื่อสารและจูงใจอย่างไร มีวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมงานอย่างไรบ้าง ผู้ประกอบการจึงสามารถวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด
4. การเก็บข้อมูลของให้ปลอดภัยปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากขึ้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดจะสร้างสมดุลระหว่างการปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) และความเป็นส่วนตัว (Privacy) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ให้ลูกค้าไว้วางใจได้อย่างไร ต้องแจ้งลูกค้าให้ชัดเจนว่าข้อมูลแต่ละอย่างนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรหรือสิทธิประโยชน์ใดบ้างที่ลูกค้าอาจจะได้รับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในการตัดสินใจให้ข้อมูลส่วนตัวกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ เป็นการทำการตลาดแบบจริงใจ
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลของลูกค้ามาแล้ว ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องเก็บรักษาข้อมูลลูกค้าให้ดี หมายถึง ไม่ปล่อยให้มีข้อมูลรั่วไหลได้โดยง่าย ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดการรั่วไหล คือ การตั้งรหัสผ่านที่ไม่ละเอียดรอบคอบ ซึ่งเป็นปัญหา Physical Security ที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย อย่าให้เข้าถึงได้ง่าย อย่าประมาท อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลรั่วไหลออกไปแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ รีบแจ้งลูกค้าโดยด่วน เพื่อหาวิธีรับมือให้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นโลกเศรษฐกิจที่เรียกว่ายุค Information Age ข้อมูลคือหัวใจของทุกอย่างในการดำเนินธุรกิจ จึงไม่ได้แข่งขันกันที่สินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว แต่แข่งกันที่ว่าผู้ประกอบการรายใดจะสามารถ Monetize Data หรือสร้างรายได้จากข้อมูลโดยใช้สินค้าและบริการเป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลของลูกค้าได้มากกว่ากัน
ที่มา ดัดแปลงจาก