ต้นทุน : จำแนกประเภทตามลักษณะการดำเนินงาน (EP. 1)

ต้นทุน (Cost) หมายถึง มูลค่าของทรัพยากรที่ถูกใช้ไป หรือรายจ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สินค้า และบริการ ต้นทุนจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต และ 2) ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต

ต้นทุนการผลิต
ต้นทุนการผลิต (Manufacturing Costs) หมายถึง มูลค่าของทรัพยากรที่ถูกใช้ไป หรือรายจ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแปลงสภาพ (Transformation Process) วัตถุดิบ (Raw Material) ทั้งหมดให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) สำหรับจำหน่ายตามวัตถุประสงค์ของกิจการ ต้นทุนการผลิตประกอบด้วยผลรวมของ 1) วัตถุดิบทางตรง 2) ค่าแรงงานทางตรง และ 3) ค่าใช้จ่ายการผลิต
1. วัตถุดิบทางตรง (Direct Material: DM) หมายถึงวัตถุดิบต่างๆที่เป็นส่วนประกอบหลักของสินค้าที่กิจการผลิต ซึ่งสามารถระบุจำนวนได้แน่นอน และคิดมูลค่าได้ง่าย
2. ค่าแรงงานทางตรง (Direct Labor: DL) หมายถึง ค่าจ้างหรือเงินเดือนของพนักงานที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าโดยตรง
3. ค่าใช้จ่ายการผลิต (Manufacturing Overhead: OH) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ใช้ในการผลิตสินค้านอกเหนือจากวัตถุดิบทางตรง และค่าแรงงานทางตรง ค่าใช้จ่ายการผลิตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วัตถุดิบทางอ้อม ค่าแรงงานทางอ้อม และค่าใช้จ่ายโรงงานอื่นๆ

ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต
ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต (Nonmanufacturing Costs) หมายถึง ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ได้แก่ 1) ค่าใช้จ่ายในการขาย และ 2) ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
1. ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานขายโดยตรงทั้งหมด เช่น ค่าโฆษณา ค่าโทรศัพท์พนักงานขาย ค่าคอมมิชชันพนักงานขาย เงินเดือนพนักงานขาย และค่าขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า
2.ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administration Expenses) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆของส่วนงานบริหาร เช่น เงินเดือนผู้บริหาร และค่าเช่าสำนักงาน