ลักษณะการมีส่วนร่วมของประชาชน มี 7 รูปแบบดังนี้
1. การออกเสียงประชามติ (Referendum) เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อตัดสินใจในปัญหาสำคัญๆ ที่ได้กระทำหรือคาดว่าจะกระทำ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธในเรื่องนั้นๆ ซึ่งเป็นการมอบอำนาจการตัดสินใจคืนให้กับประชาชนในการกำหนดทางเลือกเองว่าต้องการทางเลือกใดที่ตนและชุมชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตัดสินใจ
2. การประชาพิจารณ์ (Public hearing) เป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการเพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจการดำเนินการทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือประชาชนจำนวนมาก ลักษณะการประชาพิจารณ์จะต้องมีการจัดประชุมอย่างเป็นระบบและมีการจดบันทึกและสรุปข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆไว้อย่างเป็นทางการ
3. เวทีสาธารณะ (public meeting) เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมต่างๆ มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล และความคิดเห็นร่วมกัน ตลอดจนการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ผลจากเวทีสาธารณะอาจก่อให้เกิดสภาพผูกพันหรือข้อตกลงร่วมหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีสาธารณะ รูปแบบของการจัดเวทีสาธารณะมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ เช่น การประชุมทั่วไป (conference) การประชุมสัมมนา (seminar) การประชุมเชิงปฏิบัติการ(workshop) การอภิปรายเป็นคณะ (panel forum) และการประชุมระดมความคิด (brainstorming)
4. การสอบถามสาธารณะ (public inquiry) เป็นมาตรการที่ผู้บริหารท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายในเรื่องนั้นๆ ได้แสดงความคิดเห็นและโต้แย้งคัดค้านก่อนที่ฝ่ายบริหารจะออกนโยบาย หรือการกระทำใดทางปกครองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งนี้จะต้องให้องค์กรที่มีความเป็นกลางและมีอิสระเป็นผู้ดำเนินการการรับฟังความคิดเห็น การสอบถามสาธารณะเป็นเรื่องของความชอบธรรมที่ฝ่ายบริหารจะต้องสอบถามประชาชนในท้องถิ่นที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายและประชาชนมีสิทธิในการคัดค้านการกระทำที่สร้างผลกระทบ
5. การเสนอร่างกฎหมาย (initiative) เป็นการใช้สิทธิในการออกกฎหมายโดยประชาชน โดยวิธีการการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย เป็นหลักของการกระจายอำนาจและการปกครองตนเอง รูปแบบที่สำคัญ อาทิ กฎหมายต่างๆ ข้อบัญญัติท้องถิ่น กฎชุมชน เป็นต้น
6. การใช้สิทธิยับยั้ง (veto) เป็นการใช้สิทธิของประชาชนในการยับยั้งกฎหมายหรือโครงการ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน ตลอดจนสิทธิต่างๆที่เคยมี หรือกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อิสรภาพทางจิตใจ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และทรัพยากรท้องถิ่นของตน
7. การใช้สิทธิถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น (recall) เป็นการใช้สิทธิถอดถอนโดยการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการคืนอำนาจในการตัดสินใจสู่ประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีความคดโกง และประพฤติตัวชั่วอย่างร้ายแรง
จิรวัฒน์ เมธาสุทธิรัตนื (2563)
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น ในเอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารท้องถิ่น. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.