Strategic Management Approach for Result: แนวทางการบริหารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสัมฤทธิผล
องค์การต้องกำหนดจุดยืนขององค์การให้ชัดเจนเพื่อวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม ซึ่งการบริหารเชิงยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการในการบริหารเพื่อให้บรรลุภารกิจขององค์การโดยอยู่บนแนวคิดที่ว่า องค์การไม่ได้อยู่เป็นเอกเทศโดยตัวเองที่มีเพียงจุดอ่อนและจุดแข็งเป็นมิติหลักในการพิจารณาเท่านั้น แต่อยู่ภายใต้มิติของบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มากระทบกับองค์การนั้น บางครั้งก็เป็นโอกาส บางครั้งก็เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้ การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) ขององค์การนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
(1) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategy Formulation)
เป็นเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด/ค่าเป้าหมาย กลยุทธ์ ซึ่งเป็นการกำหนดแผนที่ทางยุทธศาสตร์ (Strategy Map) ในขั้นตอนนี้จึงเกี่ยวข้องกับการกำหนดพันธกิจ (Mission Statement) การพิจารณาถึงโอกาสและข้อจำกัดที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก การพิจารณาถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ การกำหนดวัตถุประสงค์ระยะยาวขององค์การ การพิจารณาประเมินทางเลือกกลยุทธ์ต่าง ๆ และการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงาน
(2) การนำไปสู่การปฏิบัติ (Strategy Implementation)
เป็นการนำแผนยุทธศาสตร์ถ่ายทอดออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ รวมถึงการปรับแต่งองคาพยพทางด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ กระบวนการ โครงสร้าง เทคโนโลยี และคน ในขั้นตอนนี้จึงเกี่ยวข้องกับการกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนประจำปี การกำหนดนโยบาย การจูงใจบุคลากรที่รับผิดชอบการจัดสรรทรัพยากรให้แก่การดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ การสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่เน้นการทำงานตามกลยุทธ์ การกำหนดโครงสร้างองค์การที่มีประสิทธิผล การจัดเตรียมงบประมาณ รวมถึงการพัฒนาและการใช้ระบบการจัดการข้อมูล
(3) การควบคุมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Control)
เป็นการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และการทบทวนสถานการณ์เพื่อปรับแต่งยุทธศาสตร์ ในขั้นตอนนี้จึงเกี่ยวข้องกับการประเมินสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การทบทวนยุทธศาสตร์ที่ถูกนำไปใช้ การประเมินระดับความสำเร็จของยุทธศาสตร์และแผน รวมถึงการปรับปรุงแก้ไข
การบริหารเชิงยุทธศาสตร์จะเกิดสัมฤทธิผลได้ ทั้ง 3 ขั้นตอนสำคัญดังกล่าวเป็นแนวทางที่ต้องได้รับความสำคัญอย่างสมดุล กล่าวคือ การวางแผน การปฏิบัติ และการควบคุมต่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากมุ่งแต่การวางแผนก็จะกลายเป็นนักฝันที่อยู่ในโลกแห่งนามธรรม หากมุ่งแต่รูปธรรมของการปฏิบัติแต่ไม่ทบทวนเป้าหมายหรือแผนก็จะกลายเป็นความพยายามที่ขาดทิศทางที่เหมาะสม แต่หากขาดการควบคุมก็จะกลายเป็นการดำเนินงานที่ไม่มีการประเมินและควบคุมให้อยู่ในแผนที่ต้องการ หรือหากมุ่งแต่ควบคุมก็จะกลายเป็นการยึดติดอยู่กับระเบียบ ท้ายที่สุดการประเมินและการควบคุมก็จะกลายเป็นกับดักของการบริหารนั่นเอง