ต้นทุนผลิตภัณฑ์
ต้นทุนผลิตภัณฑ์ (Product Costs) หรือต้นทุนการผลิต (Manufacturing Costs) คือรายจ่าย หรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ (Product) โดยที่ผลิตภัณฑ์นี้จะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์แก่องค์การในอนาคต (ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์, 2567: น. 11)
ในบริบทขององค์การธุรกิจ และการจัดการการดำเนินงาน (Operations Management: OM) นั้นแบ่งผลิตภัณฑ์ (Product) ออกเป็น 2 ประเภท ตามเกณฑ์คุณสมบัติ ได้แก่
1. สินค้า (Goods) เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจับต้องได้ (Tangibles) เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้า และโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้แก่กันได้ นอกจากนั้นลูกค้าในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสินค้ายังสามารถประเมินคุณภาพของสินค้าได้ง่าย สำหรับกระบวนการด้านการดำเนินงานนั้นมักต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อใช้สำหรับผลิตสินค้า ดังนั้นลูกค้าจึงมีส่วนร่วมในกระบวนการด้านการดำเนินงานค่อนข้างน้อย หรืออาจไม่มีส่วนร่วมเลยก็ได้
2. บริการ (Services) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ (Intangibles) ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้า และไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ ดังนั้นในการประเมินคุณภาพบริการ (Service Quality) จึงทำได้ค่อนข้างยาก แต่ในส่วนของกระบวนการด้านการดำเนินงานนั้นลูกค้าจะมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก
ประเภทธุรกิจ
ต้นทุนผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจดังนี้
1. ธุรกิจผลิต (Manufacturing) เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปลงสภาพ (Transformation Process) ปัจจัยการผลิต หรือปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ เงินทุน ที่ดิน วัตถุดิบ แรงงาน พลังงานการผลิต ข้อมูลและสารสนเทศ ทักษะและความรู้ และผู้ประกอบการ ฯลฯ ให้เป็นผลผลิต (Output) หรือสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) สำหรับจำหน่ายให้กับลูกค้า (Customer) หรือผู้บริโภค (Consumer) ธุรกิจผลิตมีต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายจ่าย หรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดสินค้าสำเร็จรูป เรียกว่า “ต้นทุนสินค้าสำเร็จรูป” ตัวอย่างธุรกิจผลิต ได้แก่ 1.1) ธุรกิจการเกษตร เช่น การปลูกพืช การปลูกผัก การปลูกผลไม้ และการเลี้ยงปศุสัตว์ 1.2) ธุรกิจหัตถกรรม และงานฝีมือ เช่น การผลิตเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิก การผลิตเครื่องจักสาน และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 1.3) ธุรกิจประเภทโรงงาน เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง และ 1.4) ธุรกิจผลิตอื่นๆ เช่น การผลิตมุ้งลวด และผลิตเหล็กดัด
2. ธุรกิจบริการ (Services) เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปลงสภาพปัจจัยการผลิต หรือปัจจัยนำเข้า ให้เป็นผลผลิต หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสำหรับให้บริการแก่ลูกค้า ธุรกิจบริการมีต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายจ่ายหรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อก่อให้เกิดการบริการ เรียกว่า “ต้นทุนบริการ” ตัวอย่างธุรกิจบริการ ได้แก่ 2.1) ธุรกิจการศึกษา เช่น โรงเรียนกวดวิชา และสถาบันสอนภาษา 2.2) ธุรกิจการขนส่ง เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้า และธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางบก ทางเรือ และทางอากาศ 2.3) ธุรกิจที่พักอาศัย เช่น โรงแรม รีสอร์ต เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และหอพัก 2.4) ธุรกิจสุขภาพ และความงาม เช่น โรงพยาบาลเอกชน คลินิกเอกชน สถานเสริมความงาม และสถานออกกำลังกาย 2.5) ธุรกิจบันเทิง เช่น โรงภาพยนตร์ โรงละคร และสวนสนุก 2.6) ธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย และ 2.7) ธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น สำนักงานทนายความ และสำนักงานบัญชี
3. ธุรกิจซื้อมาขายไป เป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้ามาเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค ทั้งนี้อาจมีการพัฒนา การปรับปรุง และการตกแต่งสินค้าที่ซื้อมาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในสินค้าก่อนการจำหน่ายให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคต่อไป โดยธุรกิจซื้อมาขายไปจะมีต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นรายจ่ายหรือทรัพยากรที่ถูกใช้ไป เพื่อซื้อสินค้าสำหรับจำหน่าย เรียกว่า “ต้นทุนสินค้า”
สำหรับมุมมองทางธุรกิจที่มีต่อต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขายในปัจจุบันนั้น ราคาขายยังคงเป็นรายได้หลักขององค์การธุรกิจ กอปรกับระบบทุนนิยม (Capitalism) ที่ทวีความรุนแรงทางการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมมากขึ้น ลูกค้าจึงมีอำนาจในการตัดสินใจ การต่อรองราคา และการกำหนดราคาขาย (ราคาขายคงที่ หรือลดลง) นั่นคือองค์การธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น หรือลดลงขึ้นอยู่กับว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ทางการบริหารและการจัดการภายในองค์การอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มีต้นทุนลดลง ขณะที่ผลผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์ยังคงมีคุณภาพเช่นเดิม ดังนั้นต้นทุนผลิตภัณฑ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกำไรขององค์การธุรกิจ
เอกสารอ้างอิง
ประไพพิศ สวัสดิ์รัมย์. (2567). การคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย. เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตรการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และการกำหนดราคาขาย รุ่นที่ 2. ชลบุรี: ศูนย์บูรณาการทางธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (อัดสำเนา).