รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยานี ภาคอัต
จากบทความที่ 1 ได้นำเสนอใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน หรือ IC ไปแล้ว สำหรับบทความนี้จะนำเสนออีกหนึ่งใบอนุญาตที่ได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือ นักวิเคราะห์การลงทุน หรือ Analyst เป็นสายวิชาชีพที่ทำหน้าที่ในลักษณะผู้คัดกรอง และนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุนให้กับผู้ลงทุน เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท สำหรับบทความนี้จะนำเสนอนักวิเคราะห์การลงทุนในตลาดทุน
ใบอนุญาตนักวิเคราะห์การลงทุนเป็นอีกหนึ่งใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เช่นกัน สำหรับโครงสร้างของนักวิเคราะห์แบ่งออก 2 ประเภทคือ
ประเภทที่ 1 นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน (Capital Market Investment Analyst) เป็นผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล และการประเมินผลการดำเนินงานของหลักทรัพย์ในอนาคต เพื่อหามูลค่าที่แท้จริงหรือมูลค่าที่เหมาะสมของหลักทรัพย์ให้กับผู้ลงทุนใช้ในการตัดสินใจลงทุน สำหรับใบอนุญาตประเภทนี้แบ่งออก 2 ประเภทย่อยคือ
1.1 นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ (Securities Investment Analyst) ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน และการประเมินผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น ควรจะมีราคาที่แท้จริงหรือราคาเหมาะสมในการลงทุนเท่าไร
1.2 นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives Investment Analyst) ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐาน และการประเมินปัจจัยถึงผลกระทบต่อสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Assets) ควรจะมีราคาที่แท้จริงหรือราคาเหมาะสมที่จะนำมาช่วยตัดสินใจลงทุนเท่าไร
ประเภทที่ 2 นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analyst) เป็นผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตของสินทรัพย์แต่ละประเภทในตลาดทุน ซึ่งนักวิเคราะห์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือด้านการสร้างกราฟในรูปแบบต่างๆ และนำกราฟเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตามทางทฤษฎีแล้ว นำเสนอข้อมูลผลการวิเคราะห์ทางเทคนิคให้กับผู้ลงทุนในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทต่อไป สำหรับผู้สนใจในสายวิชาชีพนักวิเคราะห์การลงทุนไม่ว่าด้านปัจจัยพื้นฐาน และด้านทางเทคนิค จะต้องมีคุณสมบัติคือ ผู้ที่สอบผ่านหลักสูตรใดหลักสูตรต่อไปนี้ ได้แก่ หลักสูตร Certified Investment and Securities Analyst (CISA) หลักสูตร Chartered Financial Analyst (CFA) และ Financial Risk Management เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังมีรายละเอียดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนอื่นๆ ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซด์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th)