โมเดล 70 : 20 : 10 คืออะไร
โมเดล 70 : 20 : 10 คือ หลักการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นโดย Morgan McCall, Michael Lombardo และ Robert Eichinger ร่วมกับ Centre for Creative Leadership จนเป็นโมเดลในการพัฒนาและเรียนรู้ที่ได้รับการนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในองค์กรชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Google, Standard Chartered, Nike, American Express, Coca-Cola, Microsoft, Bank of America, Home Depot, Dell, Oracle, และบริษัทชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย (ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร, 2562)
**เชื่อว่าหลายองค์กรที่ทำงานในด้านบริหารทรัพยากรบุคคลน่าจะเคยได้เรียนรู้ และได้ยินเกี่ยวกับโมเดล 70:20:10 มาบ้างแล้ว หลายๆ องค์กรพยายามที่จะนำมาใช้งานจริงๆ ซึ่งรูปแบบที่ว่านี้มีลักษณะแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 แบบ จุดมุ่งหมายก็คือ ให้พนักงานได้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยกำหนดเป็นแนวทางไว้ดังนี้
ลักษณะแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 แบบ
70% ของการเรียนรู้และพัฒนามาจากการลงมือทำ ได้ทดลองทำ (Experiential Learning) ก็คือ เรียนรู้ผ่านจากประสบการณ์จริงจากการทำงานจริง ซึ่งถ้าจะกำหนดแนวทางในการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ก็ต้องมีการออกแบบให้การทำงานทุกวันของพนักงานมีโอกาสได้เรียนรู้จากหน้างานจริงๆ ตลอดเวลา หรือ อาจจะมาจากการได้รับมอบหมายงานใหม่ๆ จากหัวหน้างาน ซึ่งต้องลงมือทำ หรือเป็นการได้รับโอกาสในการทำงานใหม่ๆ รวมทั้งต้องมีการจัดทำคู่มือในการทำงาน เอกสารต่างๆ ที่ทำให้พนักงานสามารถที่จะค้นหาและเรียนรู้ด้วยตนเองได้
20% ของการเรียนรู้มาจาก การพัฒนาจากบุคคลอื่นๆ ซึ่งก็คือ เรื่องของการ Coaching การได้รับ Feedback จากหัวหน้าของตนเอง หรือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในการทำงาน ในบางครั้งก็สามารถใช้การประชุมทีม เพื่อที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทีมงาน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็ถือเป็นการเรียนรู้จากบุคคลอื่นๆ รอบข้าง
10% ของการเรียนรู้ มาจากการเข้าอบรมอย่างเป็นทางการ รูปแบบการเรียนรู้นี้ จะเน้นการอบรมอย่างเป็นทางการน้อยมาก ก็คือแค่เพียง 10% เท่านั้น เพราะเชื่อว่า การที่คนเราจะได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้จริงๆ นั้น ไม่ใช่มาจากการฝึกอบรม แต่จะมาจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง และจากผู้อื่นที่มีประสบการณ์ตรงมากกว่าจากการเข้าห้องเรียนอีกด้วย
ดังนั้น การที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะนำเอาโมเดลการเรียนรู้และพัฒนาแบบ 70 : 20 : 10 มาปรับใช้ในองค์กรให้เกิดผลดีจริงๆ นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจให้กับพนักงาน โดยเฉพาะหัวหน้างานทุกระดับ ให้รู้ว่า การที่จะพัฒนาพนักงานนั้น รูปแบบนี้มันหมายความว่าอะไร และหัวหน้างานจะต้องมีบทบาทอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง