Tourism Situation in COVID-19

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งเเต่เดือนมกราคม ปี 2020 ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายเเละลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มาตรการเหล่านี้เองนอกจากควบคุมเชื้อโรคเเล้ว ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักเนื่องจากประชาชนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างรวมถึงการท่องเที่ยวทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็น inbound (ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย) outbound (ชาวไทยเดินทางออกไปต่างประเทศ) เเละการท่องเที่ยวภายในประเทศ

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศเเต่ก็มีความเปราะบางต่อสถานการณ์ต่าง ๆ  เเม้ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่สถานการณ์การระบาดในไทยเเละหลายประเทศยังไม่รุนเเรง อีกทั้งขณะนั้นรัฐบาลไทยเองยังไม่ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงยังไม่ปิดสถานที่ต่าง ๆ เเละห้ามการเดินทางเข้าประเทศหรือข้ามจังหวัด ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวก็เริ่มปรากฎให้เห็นเเล้วเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติลดจำนวนลงเนื่องจากสถานการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศต้นทางรวมถึงมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ บังคับใช้ เเละด้วยเหตุนี้เอง นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางออกไปนอกประเทศก็ทยอยยกเลิกการเดินทางเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปต่างประเทศเเล้วติดเชื้อกลับมา เเม้เเต่นักท่องเที่ยวภายในประเทศเองก็มีความกังวลที่จะเดินทาง จึงเห็นได้ว่าเริ่มมีโรงเเรมประกาศปิดชั่วคราวเเละให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเเล้วตั้งเเต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม

สถานการณ์ของภาคการท่องเที่ยวเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม เมื่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้กระจายไปทั่วโลกเเละรุนเเรงขึ้นมากในหลายประเทศโดยเฉพาะที่ยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงบางประเทศในเอเชียจนรัฐบาลของประเทศต้องปิดประเทศ ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้าออก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในตลาด inbound และ outbound จึงสูญรายได้ไปโดยสิ้นเชิงจนกว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทาง สำหรับประเทศไทยนั้น การบินพลเรือนเเห่งประเทศไทยประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งเเต่วันที่ 3 เมษายน 2562 ยกเว้นชาวไทยที่ต้องการกลับสู่ภูมิลำเนา

 จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563 พบว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนามากที่สุดคือภาคตะวันออก รองลงมาคือ ภาคใต้เเละภาคเหนือตามลำดับ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดคือสวนสนุกเเละธีมปาร์ค รองลงมาคือ บริษัททัวร์นำเที่ยวเเละธุรกิจขนส่งตามลำดับ เเละตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา เเรงงานในภาคท่องเที่ยวมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เเละมีอีกกว่า 1.3 ล้านคนในภาคการผลิตที่เชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวที่อาจได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการขาดรายได้หรือตกงาน ธุรกิจการบินเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนเเรงจากมาตรการห้ามเดินทางเข้าออกของรัฐบาลหลายประเทศ โดย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพานิชย์ประเมินว่า รายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศของสายการบินสัญชาติไทยจะลดลงถึง 65% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนรายได้จากเส้นทางการบินภายในประเทศจะลดลงประมาณ 45% ไม่เพียงเท่านี้ EIC ยังประเมินว่าการหยุดให้บริการจะส่งผลต่อสภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยซึ่งจะสามารถเเบกภาระค่าใช้จ่ายได้เพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์โควิด-19 การท่องเที่ยวยังต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู เนื่องจากกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชนทั้งชาวไทยเเละต่างชาติ อีกทั้งมาตรการเว้นระยะห่างเเละรักษาสุขอนามัยต่าง ๆ จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายเเล้วจะออกมาเป็นราคาที่สูงขึ้น ทำให้ราคาการท่องเที่ยวเเพงขึ้น คนจำนวนมากอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อีกทั้งในภาพรวมบรรยากาศของการท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไปที่ประชาชนยังไม่ชินกับ ‘New Normal’ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดบนจะฟื้นตัวได้เร็วสุดเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากนัก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายประเทศยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

ที่มา : สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 1/2563” จาก thailandtourismcouncil.org