The Dimension of Planning

The Dimension of Planning: มิติของการวางแผน

การวางแผนมีหลายมิติที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งหากสามารถพิจารณาได้ครอบคลุมในมิติต่างๆได้มากก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการวางแผนที่มีความรอบคอบได้มากขึ้น โดยมิติของการวางแผนที่สำคัญนั้นสามารถพิจารณาในมิติที่สำคัญได้ ดังนี้

1. มิติด้านการมุ่งสู่เป้าหมาย (Purposive) กล่าวคือ แผนและการวางแผนจะต้องแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ และเป้าหมายเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการกระทำขึ้น (Goals Stimulus Action) วัตถุประสงค์จะต้องแสดงให้เห็นทั้งในลักษณะคุณภาพ (Qualitative) และลักษณะเชิงปริมาณ (Quantitative) นอกจากนี้จะต้องเรียงลำดับความสำคัญของวัตถุประสงค์ไว้ด้วย

2. มิติด้านการมุ่งให้เกิดการกระทำ (Action Oriented) เนื่องจากการวางแผนไม่ใช่เป็นสภาพที่หยุดนิ่งหรือเป็นเพียงจุดหมายปลายทางเท่านั้น แต่จะต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำหรือต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุจุดหมาย วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดขึ้นโดยปราศจากแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลเป็นเพียงการคาดการณ์หรือการคาดหวัง

3. มิติด้านการเลือก (Choices) ในการเลือกทุกครั้งจะต้องเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งเรียกว่า ความมีเหตุผลในการวางแผน ดังนั้น การเลือกหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นมิติที่สำคัญของการวางแผน ซึ่งการตัดสินใจเลือกในการวางแผนมี 2 ประการสำคัญ ดังนี้

3.1 การเลือกเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์

3.2 การเลือกวิธีการ หรือวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

4. มิติด้านเวลา (Time Horizon) การวางแผนกับอนาคตเป็นของคู่กัน เพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาในอนาคตนั้น จะตรงตามที่คาดการณ์หรือไม่นั้นเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนต่างๆมากมาย จำเป็นจะต้องเอา “เวลา” มาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงมากที่สุด ดังนั้น จึงเกิดเทคนิคการวิเคราะห์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเวลามากมาย เช่น การวิเคราะห์ผลประโยชน์และค่าใช้จ่าย (Benefit/Cost Analysis) การวิเคราะห์ประสิทธิผลของค่าใช้จ่าย (Cost-effectiveness Analysis) เทคนิคค่าปัจจุบัน (Present Value) เทคนิค PERT/CPM และ IRR เป็นต้น

5. มิติด้านกระบวนการ (Process) การวางแผนเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ต้องกระทำติดต่อกันไปเป็นระยะๆ โดยมิให้ขาดตอนหรือหยุดนิ่ง ทั้งนี้ เพราะแผนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น เกิดขึ้นก็เพราะการวางแผนเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนในอนาคต ยิ่งเป็นแผนระยะยาวมากเท่าไหร่ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นก็ยิ่งมีมากขึ้น ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ตลอดจนกระบวนการปฏิบัติงานตามแผนผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและวางแผนใหม่ให้ตรงกับข้อเท็จจริงอย่างเป็นกระบวนการ