การกำหนดหัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยว

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

นักวิชาการมีแนวคิดและมุมมองที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายและแตกต่างกัน แต่มีหลักการที่สำคัญในการกำหนดและเลือกหัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่จะต้องพิจารณา ดังนี้

1. หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องแรกที่ผู้วิจัยต้องคำนึงถึงเพราะงานวิจัยที่ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่สมควรนำมาเป็นหัวข้องานวิจัย การพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือไม่จะพิจารณาจากประเด็นที่สำคัญ คือ

1.1 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่นำไปใช้แก้ไขปัญหาได้ ผู้วิจัยด้านการท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาว่าหัวข้อวิจัยนั้นมีประเด็นปัญหาอะไร และเมื่อดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ผลของงานวิจัยสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาหรือบรรเทาปัญหานั้นได้หรือไม่ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังต้องพิจารณาว่างานวิจัยที่ทำขึ้นนั้นจะนำไปเสนอให้ใคร หรือบุคคลที่แก้ปัญหาได้นั้นเป็นใคร อยู่ในขอบเขตภาระหน้าที่ที่ผู้นั้นรับผิดชอบอยู่หรือไม่ 

1.2 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่มีประเด็นน่าสนใจ งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่มีประเด็นที่น่าสนใจย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ ดังนั้นผู้วิจัยควรเลือกหัวข้อวิจัยที่มีประเด็นปัญหาอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปในขณะนั้น หัวข้อวิจัยบางเรื่องถึงแม้จะมีประเด็นปัญหาอยู่ก็จริง แต่ถ้าปัญหาดังกล่าวไม่น่าสนใจหรือไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญก็ไม่สมควรเลือกเป็นหัวข้องานวิจัย

1.3 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวถือเป็นส่วนหนึ่งของผลงานทางวิชาการที่ต้องมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไป ถ้าประโยชน์ของงานวิจัยนั้นเป็นประโยชน์เฉพาะตัวผู้วิจัยย่อมไม่คุ้มค่ากับการทำวิจัย ยกเว้นการวิจัยเฉพาะบุคคลหรือหน่วยงาน เช่น การวิจัยตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องการนำผลวิจัยไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยผลงานวิจัยของตนต่อสาธารณชน

2. หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ทำได้ เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยต้องคำนึงถึงว่าตนเองมีศักยภาพที่จะทำหัวข้องานวิจัยนั้นได้สำเร็จหรือไม่ หลังจากพิจารณาแล้วว่าหัวข้องานวิจัยนั้นมีประโยชน์จริง โดยพิจารณาประเด็นที่สำคัญ คือ

2.1 ผู้วิจัยมีความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว ผู้วิจัยควรจะต้องมีความเชี่ยวชาญในหัวข้องานวิจัยที่ตนเลือกทำเป็นอย่างดี การเลือกหัวข้องานวิจัยที่ไม่ถนัดผู้วิจัยจะต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อที่จะเรียนรู้ในเรื่องนั้นเพิ่มเติม

2.2 งานวิจัยมีข้อมูลด้านการท่องเที่ยวสนับสนุน งานวิจัยที่ดีควรมีข้อมูลที่นำมาสนับสนุนให้มากเพียงพอ ข้อมูลที่นำมาสนับสนุนอาจได้มาจากแหล่งปฐมภูมิหรือทุติยภูมิก็ได้ เช่น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เอกสาร ตำรา งานวิจัยที่ผ่านมา เป็นต้น ข้อมูลสนับสนุนเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำวิจัย ผู้วิจัยต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือมาสนับสนุนงานวิจัย เช่น สนับสนุนประเด็นปัญหา สนับสนุนการสร้างเครื่องมือวิจัย สนับสนุนการอภิปรายผล เป็นต้น

2.3 ความเป็นไปได้ที่จะทำงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวสำเร็จ หัวข้องานวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่เลือกทำต้องมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้สำเร็จ ประเมินเบื้องต้นได้จากการที่ผู้วิจัยสามารถมองกระบวนการวิจัยในหัวข้อนั้นได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการวิจัย เช่น รู้ว่าจะเกิดอะไร เกิดกับใคร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เกิดได้อย่างไร และทำไมถึงเกิดขึ้น อาจเป็นวิธีที่ชี้ให้เห็นได้ว่าตัวผู้วิจัยมีความเข้าใจในโครงสร้างของงานวิจัยอย่างดีไม่ว่าผลของงานวิจัยนั้นจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

2.4 หัวข้องานวิจัยอยู่ในสายงานที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยควรเลือกหัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสายงาน หรือสาขาที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะผู้วิจัยจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและสามารถหาข้อมูลมาสนับสนุนได้มากกว่า และผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์กับสายงานหรือหลักสูตรที่ผู้วิจัยเกี่ยวข้อง

3. หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า การพิจารณาถึงความคุ้มค่าระหว่างทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ไปกับผลที่คาดว่าจะได้รับนั้นคุ้มค่ากันหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่าก็ไม่สมควรนำมาเป็นหัวข้องานวิจัย ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะพิจารณาหลังจากที่ผู้วิจัยได้หัวข้องานวิจัยที่เป็นประโยชน์จริงและผู้วิจัยมีความสามารถที่จะทำได้แล้ว โดยพิจารณาประเด็นที่สำคัญ คือ

3.1 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวไม่กว้างหรือแคบเกินไป ผู้วิจัยควรเลือกหัวข้องานวิจัยที่เหมาะสมและไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของผู้อื่น ถ้าหัวข้องานวิจัยกว้างเกินไปอาจเกินความสามารถของผู้วิจัย หรือหัวข้องานวิจัยแคบเกินไปทำให้ผลวิจัยไม่คุ้มค่ากับการทำวิจัย

3.2 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวทันต่อเหตุการณ์ ผู้วิจัยควรเลือกหัวข้องานวิจัยที่จะสามารถนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาได้ทันเหตุการณ์ เช่น หัวข้องานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะวิกฤตหรือปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไขหรือข้อมูลจากงานวิจัยช่วยสนับสนุนการตัดสินใจแก้ปัญหาให้ทันการณ์ ผู้วิจัยจึงควรใช้เวลาในการวิจัยให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

3.3 หัวข้อการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรในการวิจัยอย่างคุ้มค่า ผู้วิจัยต้องมีการจัดทำแผนการทำวิจัยด้านการท่องเที่ยวอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในการวิจัยหลายอย่าง เช่น กำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เวลา งบประมาณ เป็นต้น ทั้งนี้แผนงานวิจัยนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจการเลือกหัวข้อวิจัย และการคาดการณ์ว่าผลงานวิจัยที่จะได้รับคุ้มค่าหรือไม่

ที่มา : ธานินทร์ ศิลป์จารุ (2555) อ้างใน วรรณา ศิลปอาชา (2563) การวิจัยด้านการท่องเที่ยว (หน่วยที่ 13) ในเอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพการจัดการการท่องเที่ยว นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช