PRICING OBJECTIVE

วัตถุประสงค์ในการกำหนดราคานั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

1. เพื่อสร้างกำไร องค์กรธุรกิจมักตั้งราคาเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านผลกำไรตามที่ตนตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับอุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคด้วยว่า สามารถตั้งราคาได้มากน้อยในระดับใดเมื่อเทียบกับคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ

2. เพื่อการแข่งขัน องค์กรธุรกิจต้องกำหนดราคาให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันรายอื่นได้ หรือบางครั้งอาจทำการตั้งราคาของสินค้าประเภทเดียวกันให้มีราคาต่ำกว่าคู่แข่งขันเพื่อเป็นการช่วงชิงลูกค้าหรือสร้างฐานลูกค้าเพิ่มให้กับตน

3. เพื่อเพิ่มยอดขาย องค์กรธุรกิจอาจมีการกำหนดราคาจำหน่ายสินค้าและบริการของตนให้มีราคาถูกกว่าราคาปกติเพื่อเพิ่มยอดขายในช่วงสั้นๆ โดยจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายประเภท ลด แลก แจก แถม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมาก บรรลุตามเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้ และส่งผลให้เกิดกำไรขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ หรือมีวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ต้องการสร้างกระแสความนิยมหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ร้านค้าของตนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

4. เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การกำหนดราคาที่สูงแสดงถึงคุณภาพของสินค้าในระดับสูงและสร้างให้ลูกค้าเกิดความภูมิใจที่ได้ใช้สินค้าที่มีภาพลักษณ์เป็นผู้นำด้านคุณภาพ และยังส่งผลให้องค์กรธุรกิจได้กำไรต่อหน่วยสูงด้วย อย่างไรก็ดี การกำหนดราคาในลักษณะนี้ต้องพิจารณาองค์ประกอบด้านการตลาดอื่นๆ ในสายตาของผู้บริโภคด้วย เช่น คุณภาพของสินค้า ตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ในการรับรู้ของผู้บริโภค ลักษณะของช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น

5.   เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า เป็นการที่องค์กรธุรกิจทำการตั้งราคาสินค้าเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ โดยไม่เน้นกำไรมากเกินควร เพราะเชื่อว่าอาจส่งผลดีแค่ในระยะสั้น แต่อาจสูญเสียโอกาสที่จะรักษาลูกค้าไว้ให้ได้ในระยะยาว  ดังนั้นการกำหนดราคาแบบนี้จึงมุ่งเน้นให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับการซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรธุรกิจเป็นหลัก

6.   วัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น การกำหนดราคาเพื่อป้องกันการเข้าตลาดของธุรกิจรายอื่น การกำหนดราคาเพื่อต่อสู้กับธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขัน การกำหนดราคาเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดของกิจการซึ่งอาจใช้ในกรณีที่องค์กรธุรกิจมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อสภาพคล่อง หรือการกำหนดราคาเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม