ปรัชญาแห่งศาสตร์ (ตอนที่ 2) : ญาณวิทยา

ญาณวิทยา (Epistemology) เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต โดย “ญาณวิทยา” หมายถึงปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยบ่อเกิด ลักษณะ หน้าที่ ประเภท ระเบียบวิธี และความสมเหตุสมผลของความรู้ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2554) เป็นปรัชญาที่ค้นคว้าหาคำตอบว่ามนุษย์รู้ความเป็นจริงของโลกและชีวิตนั้นได้อย่างไร (สุทัศน์ โชตนะพันธ์, ม.ป.ป.) ตามทัศนะของผู้เขียน ญาณวิทยา เป็นวิธีการค้นหาความรู้ความจริงที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับความจริง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยกับผู้ถูกวิจัย ในฐานะที่เป็นกระบวนการค้นหาความรู้ความจริงในยุคนวสมัย (Postmodern) ซึ่งมีวิธีการค้นหาความรู้ความจริงที่แตกต่างกันดังนี้

1. สำนักปฏิฐานนิยม (Positivism) เป็นฐานคติที่สำคัญของการวิจัยในกลุ่มวิทยาศาสตร์ (Science) และเป็นการวิจัยกระแสหลักของกลุ่มสังคมศาสตร์ (Social Sciences) สำนักปฏิฐานนิยมเชื่อว่าปรากฏการณ์ต่างๆหรือวัตถุต่างๆนั้นเป็นวัตถุวิสัย (Objective) หรือเป็นปรนัย นั่นคือปรากฏการณ์ต่างๆหรือวัตถุต่างๆนั้นต้องสามารถจับต้องได้ สัมผัสได้ แจงนับได้ และวัดค่าได้ นอกจากนั้นยังเชื่อว่าปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอ และยากต่อการแปรเปลี่ยน

2. สำนักปรากฏการณ์นิยม (Phenomenologism) เชื่อว่าปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) นั้นมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัต (Dynamic) เพราะฉะนั้นการจะเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆจึงไม่สามารถแจงนับ และวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ขึ้นอยู่กับการเข้าใจความหมาย การตีความระบบคุณค่า และการยอมรับพร้อมกับซึมซับวัฒนธรรมของกลุ่มคนในสังคมหรือบริบท (Context) ต่างๆที่มีความแตกต่างและหลายหลาย

เอกสารอ้างอิง
1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2565, จาก https://dictionary.orst.go.th/
2. สุทัศน์ โชตนะพันธ์. (ม.ป.ป.). ปรัชญาการวิจัย. สืบค้น 1 กุมภาพันธ์ 2565, จาก http://irem.ddc.moph.go.th/uploads/downloads/5ab9a9d49dc75.pdf