การเป็นพิธีกรมืออาชีพเบื้องต้น

พิธีกร (Master of Ceremonies) หรือเอ็มซี (MC) หมายถึง ผู้ดำเนินการในพิธี เช่น พิธีกรในงานมงคลสมรส หรือผู้ดำเนินรายการ เช่น พิธีกรในการสัมมนา (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2554) พิธีกรจึงเป็นผู้ดำเนินรายการในงานพิธีต่างๆต้นแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบงาน ดังนั้นพิธีกรจะต้องรู้ขั้นตอนของงาน และสามารถจัดลำดับงานได้อย่างเหมาะสม โดยเป็นผู้พูดสื่อสารกับผู้ได้รับเชิญและแขกที่มาร่วมงาน และเป็นผู้พูดสื่อสารกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา (ตรีมินทร์ เกษมวิรัติพงศ์, ม.ป.ป.)

หน้าที่ของพิธีกร
พิธีกรมีหน้าที่หลายประการ สรุปพอสังเขปได้ดังนี้ (ตรีมินทร์ เกษมวิรัติพงศ์, ม.ป.ป.)
1. เป็นผู้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างการดำเนินรายการ
2. เป็นผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ กำหนดการ และรายละเอียดต่างๆของงาน
3. เป็นผู้แนะนำวิทยากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง
4. เป็นผู้เริ่มกล่าวทักทาย กล่าวต้อนรับ และเชิญเข้าสู่พิธีการ
5. เป็นผู้เชื่อมประสานเหตุการณ์ต่างๆตามลำดับ

เส้นทางสู่พิธีกรมืออาชีพ
การเป็นพิธีกรมืออาชีพมีเทคนิคดังนี้(ตรีมินทร์ เกษมวิรัติพงศ์, ม.ป.ป.)
1. ศึกษาข้อมูลในเรื่องที่รับผิดชอบในการเป็นพิธีกรแต่ละครั้งมาเป็นอย่างดี
2. ศึกษา Agenda ของงาน เช่น ใครเป็นประธานของงาน และลำดับในการขึ้น-ลงเวที
3. เตรียมเนื้อหา และคำพูดหรือสคริปต์ด้วยตนเอง ตลอดจนตรวจสอบความเหมาะสมของถ้อยคำ ต้องเหมาะสมกับเนื้อหา ลักษณะของงาน และผู้ฟัง
4. ควรฝึกซ้อมพูดก่อนถึงวันงานเสมอ
5. ศึกษาสถานที่ในจัดงานก่อนล่วงหน้า รวมถึงตำแหน่งที่จะต้องยืนและเดินในการเป็นพิธีกร และควรทดสอบเสียงของไมโครโฟนก่อนทุกครั้ง
6. เตรียมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับงาน และผู้ร่วมงาน (ควรเด่นกว่าผู้ร่วมงาน 1 ระดับเท่านั้น)
7. การนั่ง การยืน และการเดินต้องมีความมั่นใจ และสง่างาม
8. ควรส่งสายตาไปยังผู้ฟัง ณ จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ควรกวาดสายตาไปมา แต่ควรใช้วิธีการหันหน้าเพื่อเปลี่ยนมุมมองแทน
9. ควรประสานสายตากับทีมงานบ้าง เพื่อตรวจสอบว่าลำดับขั้นตอนต่างๆของงานยังเป็นไปตามกำหนดการหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งกะทันหันจะได้เตรียมตัวให้ทัน
10. ควรออกเสียงคำควบกล้ำในภาษาไทยให้ชัดเจน รวมทั้งภาษาต่างๆประเทศอื่นๆด้วย
11. ควรพูดอย่างเป็นธรรมชาติ มีจังหวะ ดัง-เบาอย่างเหมาะสม และมีการหยุด (Pause) เพื่อตั้งสติให้กับตนเอง และเรียกสติให้กับผู้ฟัง
12. การแนะนำชื่อ-นามสกุลของแขกผู้ร่วมงาน ควรอ่านให้ถูกต้อง และชัดเจน (ควรจดแทรกเป็นคำอ่าน เพื่อป้องกันการอ่านผิดพลาด)

เอกสารอ้างอิง
1. ตรีมินทร์ เกษมวิรัติพงศ์. (ม.ป.ป.). พิธีกรมืออาชีพ รุ่นที่ 12. MCOT Academy.
2. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2568, จาก https://dictionary.orst.go.th/

กรุณาคลิก Link เพื่อประเมินความพึงพอใจจากการอ่านบทความ
https://forms.gle/6ddV35BteExdUC5EA