มูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ประเทศเกาหลีใต้มีศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเอื้อประโยชน์ในเชิงการท่องเที่ยว ดังนั้น เนื้อหาที่จะนำเสนอในบล็อกนี้จะยกตัวอย่างของงานวิจัยเกี่ยวกับ กรณีศึกษาความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ (กรณ์ โรจนวงศ์สกุล, 2022) เพื่อศึกษาลักษณะการส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐบาลเกาหลีใต้ และศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ของภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยสรุปดังนี้

1. การสร้างมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมบันเทิงของรัฐบาลเกาหลีใต้โดยใช้รูปแบบในการสนับสนุนและส่งเสริมเนื้อหาทางวัฒนธรรมผ่านสินค้าเชิงสร้างสรรค์มีแนวโน้มได้รับความนิยมและสามารถต่อยอดได้ เช่น การสนับสนุนละครซีรีส์และภาพยนตร์ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมโดยรอบ อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาหาร ศัลยกรรม และเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม เป็นต้น และการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการเปิดโอกาสของรัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งกระแส “คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี” (Korean Wave) สามารถสร้างมูลค่าให้กับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนทั้งในทางตรงและทางอ้อม ส่วนกลยุทธ์ที่เกาหลีใต้ใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรรมให้ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกคือ การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การแพร่กระจายวัฒนธรรมผ่านซีรีส์และละครทางโทรทัศน์ การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านภาพยนตร์เกาหลีซึ่งเป็นการกระตุ้น “คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี” (Hallyu) ในตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจง (Niche Market) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกาหลีด้วยเหตุที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีผ่านการใช้ “Soft Power” เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมเกาหลีให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคในรูปแบบของสินค้าเชิงสร้างสรรค์ เช่น ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ และเพลง เป็นต้น

2. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชนในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ เป็นการเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมผ่านการเปิดโอกาสของรัฐบาลเกาหลีใต้ กล่าวคือ ภาคเอกชนเกาหลีใต้มีบทบาทในการพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและตอบรับนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อหาทางวัฒนธรรมให้มีคุณภาพและศักยภาพที่ดีขึ้น ส่วนภาคประชาชนเกาหลีใต้เข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบหรือประเมินคุณภาพของสินค้าในอุตสาหกรรมบันเทิงผ่านกระแสความนิยมเกาหลี

ที่มา กรณ์ โรจนวงศ์สกุล. (2022). กรณีศึกษาความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้. สืบค้นจาก

https://so03.tci-thaijo.org/index.php/papojournal/article/view/262809/176636