Teaching to be a Genius like Davinci ตอน 5 : เทคนิคง่ายๆในการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีก

สมองซีกซ้ายเกี่ยวกับอะไร

สมองของเรานั้นแบ่งออกเป็นสองซีกอย่างที่เรารู้กันดีว่ามี ซีกซ้าย กับ ซีกขวา ซึ่งซีกซ้ายนี้จะควบคุมเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลทุกอย่าง ทั้งด้านภาษาและการสื่อสาร ด้านตรรกศาสตร์ ด้านการเข้าใจคนอื่น และด้านธรรมชาติวิทยา ซึ่งจะทำให้คนถนัดสมองซีกนี้เป็นนักวางแผน ชอบวิเคราะห์ ทำอะไรทีละอย่างตามขั้นตอน แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาได้อย่างชัดเจน

Tips พัฒนาสมองซีกซ้าย : ให้น้อง ๆ พยายามเล่นเกมที่ใช้ทักษะความคิด เพื่อฝึกหลักเหตุผล และกระบวนการคิดต่าง ๆ เช่น รูบิก หมากรุก ครอสเวิร์ด เป็นการฝึกการวางแผนให้เป็นระบบ

สมองซีกขวาเกี่ยวกับอะไร

มาถึงคราวของสมองซีกขวากันบ้างครับ ซึ่งสมองซีกนี้ถูกเรียกว่า สมองแห่งความคิดสร้างสรรค์ ช่วยควบคุมและพัฒนาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านจินตภาพ ด้านดนตรี ด้านการเข้าใจตนเอง คนที่ถนัดสมองซีกขวาจะเป็นคนที่เข้าใจอะไรง่าย ปรับตัวเก่ง ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปิน เพราะมีความคิดสร้างสรรค์สูง

Tips พัฒนาสมองซีกขวา : ใช้วิธีการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น วาดรูป ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี ทำให้สมองส่วนนี้ได้ใช้งาน และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรียนรู้ที่จะใช้สมองทั้งสองซีกไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการทำ Mind Map

ทีนี้น้อง ๆ ก็คงมองเห็นถึงข้อดีของสมองแต่ละซีกกันแล้วใช่มั้ยล่ะครับ ซึ่งการพัฒนาไปทีละฝั่งนั้นเป็นเรื่องที่ดีก็จริง แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราสามารถนำสมองสองซีกที่มีจุดเด่นแตกต่างกันของเรามาใช้งานพร้อมกันได้ ซึ่งการใช้งานสมองทั้งสองซีกนี้จะช่วยให้เราคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม

ซึ่งวิธีพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันนั้นต้องอาศัยการบริหารอย่างต่อเนื่อง และหลังจากมีการวิจัยกันมาอย่างเนิ่นนาน ก็ได้ผลสรุปแล้วล่ะครับว่า การคิดให้เป็น Mind Map นี่แหละที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพต่อสมองมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่เชื่อมโยงสมองทั้ง 2 ซีกได้อย่างสมดุล โดยผ่านสองหลักการสำคัญคือ จินตนาการ” และ ความเชื่อมโยง”

กฎข้อสำคัญของการทำ Mind Map เพื่อพัฒนาสมอง

1. ไม่ล้อมข้อมูลความคิดไว้ด้วยกรอบ เพราะจะทำให้คิดไม่ออก กักขังความคิด

2. ไม่เขียนคำไว้ใต้กิ่งที่แตกออกมา คำที่เขียนต้องอยู่บนเส้น

3. เขียนเป็นประโยคสั้น ๆ หรือวลี

4. ทุกเส้นต้องเชื่อมกัน ไม่ขาดตอน

5. ใช้สีเดียวกันต่อกิ่งที่ขยายไป เพื่อจัดระบบทางความคิด

6. จัดกระดาษเป็นแนวนอน เพื่อให้สายตาทำงานได้เต็มที่

7. ไม่ใช้กระดาษที่มีตารางหรือมีเส้น ให้ใช้เป็นกระดาษโล่ง ๆ เท่านั้น

ตัวอย่างการเขียน Mind Map ที่ดี

ยิ่งเรา ทำ Mind Map บ่อยเท่าไหร่ ยิ่งช่วยพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกได้ดีขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญจะยิ่งทำให้เราเป็นคนเก่ง ความจำดี แก้ปัญหาฉับไว และเข้ากับทุกคนได้นั่นเอง นับเป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ควรฝึกเอาไว้ให้เก่งตั้งแต่ตอนนี้เลย