การระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน

  • Post author:
  • Post category:Uncategorized

ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนประสงค์จะขยายกิจการหรือลงทุนในธุรกิจเพิ่ม จำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมนอกจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้ว บริษัทจดทะเบียนยังสามารถระดมทุนโดยตรงได้จากผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน โดยแบ่งตามประเภทของภาระผูกพันของเงินทุนที่ระดมทุนได้ 2 ประเภท ได้แก่

1 ตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ เป็นต้น

2 ตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

โดยมีความแตกต่างของการระดมทุนทั้ง 2 ประเภท ได้แก่ การออกตราสารทุนนั้น ต้นทุนทางการเงิน คือการจ่ายเงินปันผล โดยการจ่ายเงินปันผลจะขึ้นกับผลประกอบการของบริษัท ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการจ่ายมากกว่าดอกเบี้ย โดยจะจ่ายต่อเมื่อบริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงาน และผู้ถือหุ้นจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นเจ้าของ มีอำนาจควบคุมบริษัท ในขณะที่การออกตราสารหนี้ ต้นทุนหลัก ได้แก่ ดอกเบี้ยจ่าย ค่าใช้จ่ายในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมีกำหนดเวลาการจ่ายคืนเงินกู้ และ อัตราดอกเบี้ย มีข้อดี คือ ดอกเบี้ยจ่ายสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ในการหักภาษีได้ ส่วนความสัมพันธ์จะเป็นในรูปของเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยบริษัทมีฐานะเป็นลูกหนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระคืนแก่เจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งบริษัทจดทะเบียนจะเลือกระดมทุนโดยวิธีไหนนั้น ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ คำนึงถึงระยะเวลาการใช้เงินทุน ความเสี่ยงทางการเงิน ผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเงินที่เปลี่ยนไป รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์ในการขายหุ้นเพิ่มทุนสำหรับบริษัทจดทะเบียนที่จะระดมทุน โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน เสนอขายต่อประชาชนโดยตรง (Public Offering) จะต้องยื่นขออนุญาต และ ยื่น Filing ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อน แต่หากเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญออกใหม่ต่อผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) โดยจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น หรือ เสนอขายแก่ บุคคลในวงจำกัดในลักษณะที่ได้รับอนุญาตเป็นการทั่วไปนั้น ไม่ต้องขออนุญาต และยื่น Filing ต่อสำนักงานก.ล.ต.

แหล่งอ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. (2557). คู่มือบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

ฝ่ายกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์. (2548). ข้อแนะนำการให้สารสนเทศสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.

ฝ่ายกำกับบริษัทจดทะเบียน. (2552). คู่มือเบื้องต้นการปรับโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียน. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.