หลักการจัดการองค์การ

กล่าวได้ว่าแนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับการจัดการ ได้ถูกอ้างอิงมาตั้งแต่การนำเสนอหลักการของการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) โดย อดัม สมิธ (Adam Smith) ในหนังสือเรื่อง : The Wealth of Nations  (1776)  ที่เสนอหลักความได้เปรียบทางเศรษฐศาสตร์  โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการแบ่งงานกันทำว่าจะทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน (Specialization)  โดยยกตัวอย่างคนงานทำเข็มหมุด (Pin  Industry)  โดยใช้คนงาน 10 คน หากทำคนเดียวทุกกระบวนงาน อาจทำได้เพียง คนละ 10 เล่ม แต่หากแบ่งงานกันทำสามารถทำได้รวมถึง 48,000 เล่มต่อวัน  นอกจากนี้แล้วแนวคิดของการจัดการได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้น ค.ศ.1900 ที่มีการเปลี่ยนแรงงานภาคเกษตรมาเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น  มีการนำเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน  มีการให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการทำงานของคนงาน  ซึ่งกล่าวได้ว่าในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ถือได้ว่าเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญให้เกิดความสนใจในเรื่องการจัดการต่อมา

เพื่อให้ได้มีพื้นฐานในความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านการจัดการ จะขอเริ่มด้วยการสรุปสาระพอสังเขปเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีด้านการจัดการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 ยุค ดังนี้

  1. แนวคิดการจัดการยุคคลาสสิก
  2. แนวคิดการจัดการยุคนีโอคลาสสิค
  3. แนวคิดการจัดการยุคพฤติกรรมนิยม
  4. แนวคิดแนวคิดการจัดการเชิงระบบ
  5. แนวคิดการจัดการสมัยใหม่

และจากนั้น จะกล่าวถึงแนวคิดการจัดการในปัจจุบัน

1. แนวคิดการจัดการยุคคลาสสิก

แนวคิดการจัดการที่นักวิชาการต่างๆ มองว่าเกิดขึ้นอย่างจริงจังนั้นเกิดขึ้นในยุคคลาสสิค (Classic) ที่มีการนำเสนอหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ที่เสนอโดยเฟรดเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์ (Frederick W. Taylor) (1856-1915) ได้เขียนหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง คือ หลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (The Principles of Scientific Management) ซึ่งได้รับการยอมรับต่อมาว่าเป็นบิดาของการจัดการทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นบุคคลแรกที่ได้นำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการจัดการ ที่ Midvale Steel Company ที่โรงงานฮอโธร์น (Hawthrone) ซึ่งข้อค้นพบที่สำคัญ คือ เสนอให้มีการทดลองเพื่อค้นหาวิธีการทำงานที่ดีที่สุด (One Best Way) ซึ่งเทย์เลอร์เชื่อว่าในการทำงานจะมีวิธีการทำงานที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียว และจะต้องนำวิธีการที่ดีที่สุดนี้ไปใช้ในการคัดเลือกและพัฒนาคนงานต่อไป นอกจากนั้น เทย์เลอร์ยังให้ความสำคัญต่อหลักการทำงานที่จะต้องร่วมมือกับฝ่ายลูกจ้างด้วยความจริงใจ และควรกำหนดบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจัดการกับฝ่ายคนงานให้ชัดเจน รวมถึงข้อเสนอสำคัญที่เสนอให้มีการนำเงินมาใช้ในการจูงใจโดยสร้างระบบการจ่ายค่าจ้างตามรายชิ้น (Piece Rate System)  ซึ่งหลังจากที่เทย์เลอร์ได้นำหลักการจัดการแบบวิทยาศาสตร์แล้ว ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ได้สานต่อแนวคิดของเทย์เลอร์ เช่น แฟร๊งค์ และ ลิลเลียน กิลเบรธ (Frank and Lillian Gilbreth) ที่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเรื่องเวลาและการเคลื่อนไหว (Time and Motion Study) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนงาน  รวมถึง เฮนรี่ แอล แก้นท์ (Henry L. Gantt) ที่ได้เสนอให้มีการวางแผน โดยใช้แผนภูมิแก้นท์ (Gantt Chart) เป็นต้น จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจกล่าวสรุปได้ว่าในยุคคลาสิค มีจุดเน้นสำคัญ คือ เสนอแนวคิดทางการจัดการที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลักสำคัญ

2. แนวคิดการจัดการยุคนีโอคลาสสิค

ต่อจากยุคคลาสสิค เป็นยุคของนีโอคลาสสิค (Neoclassic  Approach)) ที่เน้นการนำเสนอเรื่องหลักการจัดการ   นักวิชาการสำคัญในยุคนี้ คือ เฮนรี่ ฟาโยล์ (Henry Fayol) ที่ได้นำเสนอหลักการจัดการ 14 ข้อ ที่ประกอบไปด้วยหลักการแบ่งงานกันทำ (Division of work) หลักความสมดุลระหว่างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (Authority and Responsibility)  หลักความมีวินัย (Discipline) หลักเอกภาพการบังคับบัญชา (Unity of Command) หลักเอกภาพทางการบริหาร (Unity of Direction) หลักการประโยชน์ส่วนตัวเป็นรองประโยชน์ส่วนรวม (Subordination of individual to general interests) หลักการกำหนดค่าตอบแทน (Remuneration)  หลักการรวมอำนาจ (Centralization) หลักสายการบังคับบัญชา (Scalar Chain) หลักความมีระเบียบ (Order) หลักความเสมอภาค (Equity) หลักความมั่นคงในการทำงาน (Stability of tenure of personnel) หลักความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) และหลักความสามัคคี (Esprit de corp) นอกจากนี้แล้วยังมีนักวิชาการที่สำคัญอีกหลายท่าน เช่น เฮนรี่ ฟาโยล์ (Henry Fayol) ที่เสนอหลักการจัดการ คือ POCCC ที่ประกอบไปด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การสั่งการ (Commanding) การควบคุม (Controlling) และการประสานงาน (Coordinating) รวมถึงแนวคิดกระบวนการจัดการ ที่เสนอโดย กูลิค และเออร์วิค (Gulick and Urwick) ที่นำเสนอ POSDCoRB ที่ประกอบไปด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing) การสั่งการ (Directing) การประสานงาน (Coordinating) และการงบประมาณ (Budgeting) กล่าวโดยสรุปในยุคของนีโอคลาสิคมีจุดเน้นสำคัญ คือ การพัฒนาหลักการจัดการ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานในองค์การ

3. แนวคิดการจัดการยุคพฤติกรรมนิยม

ในยุคของพฤติกรรมนิยม (Behavioral Approach) กล่าวได้ว่าเป็นยุคของการจัดการที่หันมาให้ความสำคัญต่อหน่วยการศึกษาที่เป็นบุคคลในองค์การขึ้น โดยนักวิชาการที่บุกเบิกในยุคนี้ ได้แก่ เอลตัน มาโย (Elton Mayo) การเกิดขึ้นของแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับขวัญกำลังใจที่ค้นพบโดยเอลตัน มาโย (Elton Mayo)  ทฤษฎีลำดับชั้นความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Need Theory) ที่เสนอโดยอับราฮัม  มาสโลว์ (Abraham Maslow)  และทฤษฎีทวิปัจจัย (Dual Factors Theory) ที่เสนอโดยเฮิร์ซเบิร์ก (Herzberg) ทฤษฎี X และทฤษฎี Y ที่เสนอโดยแมคเกรเกอร์ (McGregor) ทฤษฎีความคาดหวัง (Expectation Theory) ที่เสนอโดยวิคเตอร์ วรูม (Victor Vroom) ทฤษฎีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Need of Achievement Theory) ที่เสนอโดยเดวิด แมคคลีแลนด์ (David McClelland) แนวคิดความขัดแย้ง ที่เสนอโดยแมรี่ พาร์กเกอร์ ฟอลเล็ท (Mary Parker Follett) ที่เห็นว่ามนุษย์โดยธรรมชาติไม่ยอมรับคำสั่ง ดังนั้น ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งฟอลเล็ทเสนอให้มองความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสามารถที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้โดยใช้วิธีการต่าง ๆ คือ การยึดครอง  การประนีประนอม และการรวมตัว กล่าวโดยสรุป ในยุคนี้ให้ความสำคัญต่อคนในองค์การ โดยยอมรับว่าธรรมชาติของคนในองค์การมีความแตกต่างกัน  การบริหารงานจะต้องเข้าใจความต้องการของคนและบริหารจัดการให้สอดคล้องกับธรรมชาติของคนในองค์การที่เกิดขึ้นด้วย   

4. แนวคิดการจัดการยุคการจัดการเชิงระบบ

หลังจากนั้น แนวคิดของการจัดการได้หันมาให้ความสำคัญต่อแนวคิดการจัดการเชิงปริมาณมากขึ้น โดยเรียกว่าวิทยาการจัดการ (Management Sciences)  มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ การวางแผนและการตัดสินใจแก้ไขปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้น  โดยวิทยาการจัดการจะเน้นการสร้างเป็นตัวแบบทางคณิตศาสตร์และนำมาคำนวณเพื่อหาค่าของผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเพื่อตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่

5. แนวคิดการจัดการยุคการจัดการสมัยใหม่

สำหรับยุคของการจัดการสมัยใหม่ (Modern Management) ซึ่งเป็นยุคในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาแนวคิดการจัดการต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างมาก ได้แก่ ทฤษฎีการจัดการตามสถานการณ์ (Contingency Theory) แนวคิดการจัดการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ที่ให้ความสำคัญต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ (vision)  ภารกิจหรือพันธกิจ (mission)  การประเมินสภาพแวดล้อมของธุรกิจด้วยการนำเทคนิคต่างๆ มาใช้ในการประเมินสภาพแวดล้อม เช่น เทคนิค SWOT Analysis ที่มีการประเมินถึงจุดแข็ง (strength)  จุดอ่อน (weakness) โอกาส (opportunity) และข้อจำกัด (threat) โดยเทคนิคต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดนำมาใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์การ รวมถึงแนวคิดการค้นหาโอกาสใหม่ๆ หรือผู้รับบริการกลุ่มใหม่ๆ ที่เสนอโดย

นอกจากนี้แล้ว แนวคิดของการจัดการสมัยใหม่ยังได้มีการนำแนวคิดการบริหารงานในรูปแบบที่เน้นความคล่องตัวรวดเร็วและความมีเอกภาพของการบริหารงานในองค์การมาใช้  แนวคิดการจัดการคุณภาพ  (Quality Control) แนวคิดการรื้อปรับระบบ (Reengineering) แนวคิดการเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) แนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) แนวคิดการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management) โดยเฉพาะแนวคิดตัวชี้วัดหรือที่เรียกว่า KPIs (Key Performance Indicators) และแนวคิดของ Balanced Scorecard มาใช้ในการบริหารองค์การสมัยใหม่ให้เป็นองค์กรเชิงกลยุทธ์ (Strategy Focused Organization) กล่าวโดยสรุป ในยุคการจัดการสมัยใหม่นี้ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องของประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การเพิ่มผลผลิต คุณภาพ และความคุ้มค่าของเงิน  โดยประสิทธิผล (effectiveness) เป็นการบริหารงานเพื่อให้ผลงานที่เกิดขึ้นขององค์การได้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้  ประสิทธิภาพ (efficiency) เป็นการบริหารงานเพื่อให้ได้ผลงานออกมามากโดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด  ส่วนการเพิ่มผลผลิต (productivity) เป็นการบริหารงานเพื่อให้ประสิทธิภาพในการการดำเนินงานสูงเพิ่มขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา  ส่วนความคุ้มค่าของเงิน (Value for Money) เน้นให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรการเงินให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

หลักการจัดการองค์การ (management function) ในบัจจุบัน จะพิจารณารวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการองค์การที่ดี ซึ่งในปัจจุบันหน้าที่การจัดการจะมุ่งเน้น 4 ประการ ได้แก่ การวางแผน (planning) การจัดองค์การ (organizing) การนำ(leading) และการควบคุม (controlling) บางครั้งเรียกว่า ตัวแบบพีโอแอลชี POLC Model) ที่ผู้จัดการที่ดีมีหน้าที่ต้องกระทำ ดังนี้

1. การวางแผน เป็นหน้าที่แรกในการจัดการ ซึ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจล่วงหน้าในการกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายและแนวทางในการปฏิบัติในอนาคต โดยการวิเคราะห์จากสภาพแวดล้อมที่เป็นทั้งโอกาสและสิ่งคุกคามต่างๆ ขององค์การและจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์การ การวางแผนในปัจจุบันมุ่งเน้นการวางแผนกลยุทธ์โดยการจัดทำแผนกลยุทธ์ที่ประกอบด้วย การวิเคราะห์สถานการณ์ การกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดพันธกิจ การกำหนดค่านิยมหลัก การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ การกำหนดกลยุทธ์ การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ การกำหนดตัวชี้วัด การกำหนดค่าเป้หมาย การกำหนดโครงการริเริ่ม และการจัดทำแผนกลยุทธ์ ซึ่งผู้จัดการที่ดีต้องมีสมรรถนะในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์การ

2. การจัดองค์การ เป็นหลักการจัดการประการที่สองของผู้จัดการ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างและการออกแบบองค์การ ซึ่งการจัดโครงสร้างที่ดีต้องมีการกำหนดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย การจัดโครงสร้างในแนวดิ่ง ต้องคำนึงถึงการมีเอกภาพในการบังคับบัญชา การมีสายการบังคับบัญชาที่ไม่ยาวจนเกินไป การมีขอบข่ายการควบคุมที่เหมาะสมคือ ผู้บังคับบัญชา คนควรควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาประมาณ 10 คน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บังคับบัญชาว่าควบคุมได้มากหรือน้อยและขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชามีความรับผิดชอบมากควรมีขอบข่ายการควบคุมมากที่เรียกว่าขอบข่ายกว้าง (wide) ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชามีความรับผิดชอบน้อย ควรมีขอบข่ายการควบคุมน้อยที่เรียกว่า ขอบข่ายแคบ (narrow) ปัจจุบันมุ่งเน้นการกระจายอำนาจการตัดสินใจสู่บุคลากรระดับล่างมากขึ้น การจัดโครงสร้างในแนวนอนต้องคำนึงถึงการจัดแผนกงาน (departmentation) ที่มุ่งเน้นความถูกต้องและความรวดเร็วในการบริการ ควรจัดแผนกงานโดยยึดผู้รับบริการ ยึดกระบวนการ ยึดผลิตภัณฑ์ ยึดโครงการ ยึดพื้นที่ รวมทั้งการจัดแผนกงานที่เป็นแบบหน่วยธุรกิจกลยุทธ์ (Strategic Business Unit: SBU) นอกจากการจัดองค์การจะหมายถึงการจัดโครงสร้างในแนวดิ่งและแนวนอนแล้ว ยังหมายถึงการออกแบบองค์การ (organizational design) ให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ในอดีตมุ่งเน้นการออกแบบองค์การแบบระบบราชการ (bureaucracy) ที่เน้นความเป็นทางการสูง มีความสลับซับซ้อน และรวมอำนาจการตัดสินใจ ในปัจจุบันมุ่งเน้นการออกแบบองค์การแบบปรับตัว (adaptive organization) ที่เน้นความเป็นทางการน้อย มีขนาดเล็ก คล่องตัว ง่ายไม่สลับซับซ้อน และมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้บุคลากรระดับปฏิบัติการ

3. การนำ เป็นหลักการจัดการประการที่สามในการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาวะผู้นำของผู้จัดการเพื่ออำนวยการหรือชักจูงหว่านล้อมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังและเต็มใจเพื่อผลสำเร็จของงาน การอำนวยการที่ดีจะต้องมีการใช้สิ่งจูงใจในลักษณะต่างๆ เพื่อสร้างทีมงานที่มีขวัญกำลังใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะต้องมีการสั่งการ การมอบหมายงาน และการสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อผลสำเร็จของงาน สำหรับการใช้ภาวะผู้นำเป็นรื่องของการใช้ทักษะของตัวผู้นำที่จะกระตุ้นทุกฝ่ายให้เกิดความเต็มใจ และพร้อมใจดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ การนำในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นภาวะผู้นำยุคใหม่ที่เรียกว่า  ภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ประสบความสำเร็จ (visionary leadership) ประกอบด้วย การมีวิสัยทัศน์ การสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงองค์การ ที่เหมาะสม การกระจายอำนาจตัดสินใจสู่พนักงานและการคิดเชิงกลยุทธ์  (Nanus,1992, P. 156)

4. การควบคุม เป็นหลักการจัดการเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรวัดเพื่อใช้เป็นมาตรการหรือเครื่องมือในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางของแผนงานที่กำหนด ในการควบคุมจะมีการวัดและติดตามผล การวิเคราะห์และประเมินผลกับมาตรวัด และการปรับแก้ไขผลการดำเนินงานที่จำเป็น ในการควบคุมนั้นผู้จัดการจะต้องควบคุมมิติต่างๆ ขององค์การให้รอบด้าน เช่น การควบคุมต้นทุนการควบคุมเวลา การควบคุมทางบัญชี การควบคุมงบประมาณ การควบคุมพฤติกรรม การควบคุมโครงการและการควบคุมคุณภาพ เป็นต้น