ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนองค์กรภาครัฐไทยในการเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม

จากการศึกษาผลงานของนักวิชาการหลายท่านเช่น Thmmachot (2015);  Tidd, Bessant, and pavitt (2005) และ Rotrack (2015) ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาองค์การสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 5 ปัจจัย ประกอบไปด้วย โครงสร้างขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรเพื่อนวัตกรรม ทีมงานทีมีประสิทธิภาพ บทบาทของผู้นำขององค์กร การประสานความร่วมมือและการสื่อสาร (Coordination and Communication)

                            1.2.1 โครงสร้างองค์กรแบบสิ่งมีชีวิต

                             โครงสร้างขององค์กรสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทตามแนวคิดของ (Russel, 1999; Afuah, 2003; Russel and Russel, 1992) คือโครงสร้างองค์กรแบบสิ่งมีชีวิต (Organic Organization) และโครงสร้างองค์กรแบบจักรกล (Mechanic Organization) โครงสร้างองค์กรที่เหมาสมกับองค์กรแห่งนวัตกรรมคือโครงสร้างแบบสิ่งมีชีวิตที่มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ หรือเรียกว่าเป็นโครงสร้างองค์กรแบบแนวราบ มีการกระจายอำนาจ มีกฎระเบียบที่ไม่ตายตัว เน้นการสื่อสารแบบสองทางบุคลากรทุกส่วนในองค์กรสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้

                            1.2.2 วัฒนธรรมองค์กรเพื่อนวัตกรรม

              เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่า วัฒนธรรมองค์กรมีส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมาย บรรทัดฐาน ทัศนคติ และวิสัยทัศน์ร่วมของบุคลากร จากผลสำรวจของ Gartner Financial Services ประจำปี 2559 และ  MIT Sloan หน่วยงานที่ทำการศึกษาด้านการจัดการองค์กร พบว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของนวัตกรรมที่รุนแรงกว่าปัจจัยทางด้านแรงงาน, ทุน, รัฐบาลหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของชาติ วัฒนธรรมองค์กรเพื่อนวัตกรรม(Innovation Culture) จึงหมายถึงวัฒนธรรมซึ่งเอื้อต่อการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ กล่าวคือเป็นวัฒนธรรมที่เปิดรับต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ ส่งเสริมความอยากรู้และพร้อมแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ประสานความร่วมมือและลดความขัดแย้ง

                             1.2.3 ทีมงานที่มีประสิทธิภาพ

                             การสร้างทีมงานในองค์กรทั้งภายในสายงายเดียวกันและคนละสายงาน มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดนอกกรอบและการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการแบ่งบันข้อมูลและประสบการณ์ เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ นอกจากนี้การสนับสนุนให้มีการทำงานเป็นทีมยังเป็นพื้นฐานของการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์กรแห่งนวัตกรรม ตัวอย่างของการสร้างทีมงานอาทิเช่น การสร้างทีมงานในการทำโครงการโดยรวมเอาบุคลากรจากหลายฝ่ายภายในองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันในการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ 

                             1.2.4 บทบาทผู้นำขององค์กร

                             ผู้นำงค์กรมีบทบาทสำคัยอย่างยิ่งในการสร้าง ขับเคลื่อน และ สนับสนุนนวัตกรรมในองค์กร ทั้งนี้เพราะผู้นำองค์กรนั้นมีส่วนสำคัญในการกำหนดโครงสร้างองค์กร ออกกฏ นโยบาย ระเบียบต่างๆ หมายรวมไปถึงการกำหนดรางวัลและตัวชี้วัดประเมินผลการทำงานที่ใช้ในองค์กร ดังนั้นบทบาทของผู้นำแห่งนวัตกรรม Innovation Leaders คือการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นว่านวัตกรรมในองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้                        

                             1.2.5 การประสานความร่วมมือและการสื่อสาร

                             การเปิดกว้างในการติดต่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้องค์กรจำเป็นต้องทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน ความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรไม่ได้เกิดจากการนำเทนโนโลยีมาใช้ในองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการมุ่งมั่นเรียนรู้ของคนในองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน และพนักงานเปิดใจรับฟังและมีการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในองค์กรเพื่อให้สมาชิกขององค์กรทุกคนได้รับประสบการณ์จากความสำเร็จและความล้มเหลวจากการสร้างนวัตกรรม